พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ได้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน จากนั้นจนถึงปลายเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป มีอากาศร้อนจัด และจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่
ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมการรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยดำเนินการด้านการเตรียมความพร้อม
1.ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจทำให้เกิดพายุฤดูร้อนกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ให้ผู้อำนวยการแต่ละระดับ เร่งตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง รวมถึงไม้ยืนต้นตามที่สาธารณะที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งแจ้งให้หน่วยงานตามกฎหมาย เข้าตรวจสอบ ซ่อมแซมตามอำนาจหน้าที่ ตลอดจนเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมในการสอดส่อง ปรับปรุง ดูแลให้เกิดความปลอดภัยต่อไป
3.ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ ทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
4.สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของที่พักอาศัย การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า และกรณีต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงล้มทับ พร้อมทั้งแจ้งช่องทางการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตลอดจนมาตรการในการดูแลประชาชน ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย
ด้านการเผชิญเหตุ หากจังหวัดใดเกิดสถานการณ์พายุฤดูร้อนในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแนวทาง
1.หากเกิดเหตุวาตภัยที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ใด ให้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2.กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายให้แบ่งมอบการกิจ พื้นที่รับผิดชอบและบูรณาการหน่วยงาน เพื่อจัดทีมปฏิบัติการเร่งเข้าซ่อมแชมบ้านเรือนประชาชนโดยเร่งด่วน
3.กรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าดำเนินการแก้ไขไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะ และซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
4.กรณีความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
5. เมื่อเกิดสถานการณ์วาตภัยจากพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ