28 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้เสนอ ผ้าขาวม้า : ผ้าเอนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย (Pha Khoa Ma : Multifunctional cloths in Thai life) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ให้ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญหาทางวัฒนธรรมเป็นผู้ลงนามในเอกสารการนำเสนอต่อไป
การเสนอนี้ เป็นไปตามที่ไทยได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนและรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ซึ่งตามอนุสัญญาได้ให้รัฐภาคีสามารถเสนอรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ต่อยูเนสโกได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก อาทิ ปี 2561 ขึ้นทะเบียนโขน ปี 2562 ขึ้นทะเบียนนวดไทย และปี 2564 ขึ้นทะเบียนโนรา
นางสาวไตรศุลี รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า ก่อนนำเสนอต่อยูเนสโกในครั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้มีการพิจารณาถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในหลายมิติ
ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณค่าความสำคัญที่ผ้าขาวม้าที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทย ด้วยผ้าที่มีลวดลายตารางสี่เหลี่ยมเป็นเอกลักษณ์ขนาดกว้าง 60-80 ซม.และยาว 120-180 ซม. พบการใช้ประโยชน์อยู่ทุกภาคและชุมชน รวมถึงชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไทลื้อ ไทยวน ไทยลาว ภูไท ส่วย กูย เป็นต้น
มีลวดลายหรือสีแตกต่างกันตามเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เข้าถึงง่ายและผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยหลายด้าน ทั้งการทอผ้าใช้กันเองในครัวเรือน แลกเปลี่ยนในหมู่บ้านและชุมชนไปจนถึงเป็นของขวัญและใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า ผ้าขาวม้ามีมาตั้งแต่สมัยเชียงแสนจนถึงปัจจุบัน ผ่านการปรับปรุงต่อยอดภูมิปัญญาพัฒนาคุณภาพให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น
ทั้งนี้ ผ้าขาวม้ามีลักษณะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทั้งด้านการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติด้วยการที่สะท้อนชีวิตที่เรียบง่ายและยั่งยืนเนื่องจากผ้าขาวม้าหนึ่งผืนสามารถนำมากลับใช้ใหม่และใช้หมุนเวียนตลอดจนเกณฑ์ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม
นอกจากนี้การเสนอขึ้นทะเบียนผ้าขาวม้าจะส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมฯ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่นำไปสู่การสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลกและแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ เป็นต้น