วันนี้ 23 มี.ค. วัน"รอมฎอน" สำคัญอย่างไร ทำความรู้จักที่นี่

23 มี.ค. 2566 | 03:17 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2566 | 04:39 น.

วันนี้ 23 มี.ค. วัน"รอมฎอน" สำคัญอย่างไร ทำความรู้จักที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้แล้ว ทำไมต้องอดอาหาร มีข้อยกเว้นหรือไม่ สิ้นสุดเมื่อไหร่

สำนักจุฬาราชมนตรี ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ระบุว่า ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ในวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566

รอมฎอนคืออะไร ทำมุสลิมต้องถือศีลอด จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 
เราะมะฎอน หรือสะกด “รอมะฎอน” หรือ “รอมฎอน” คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ในศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน 

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เดือนบวช” และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้เข้าถึงอัลลอฮ์ และเพื่อให้มีความอดทน (ตบะ), การอุทิศส่วนกุศล ระลึกถึงภาวะขาดแคลนอาหาร และผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น

การถือศีลอดมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกถึงความศรัทธา ซื่อสัตย์ มุ่งหวังความใกล้ชิดกับองค์อัลเลาะห์ และเป็นการย้ำเตือนให้ชาวมุสลิมระลึกถึงความลำบากของบุคคลที่ด้อยโอกาสกว่า ดังนั้นในเดือนนี้มุสลิมจึงมักบริจาคให้องค์กรการกุศลและเลี้ยงอาหารแก่ผู้หิวโหย
 

การถือศีลอดคือการฝึกในการข่มใจตนเอง ทั้งเป็นการชำระร่างกายและจิตวิญญาณ รอมฎอนเป็นเวลาที่จะปลีกตัวจากความสุขทางโลก และมุ่งเน้นการเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการละหมาดและขอพร ชาวมุสลิมจำนวนมากจะใช้เวลามากขึ้นที่มัสยิดมากกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ ของปี การถือศีลอดในช่วงรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของศาสนาอิสลามเสมือนกับการละหมาดทุกวัน 5 เวลา และการไปแสวงบุญฮัจญ์ที่นครเมกกะห์ เป็นต้น

วันนี้ 23 มี.ค. วันรอมฎอน

ถือศีลอดอย่างไร

ชาวมุสลิมจะละเว้นจากการกินและดื่มในตอนกลางวันโดยเริ่มตั้งแต่แสงอรุณของวันใหม่ขึ้นไปจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดทั้งเดือนรอมฎอน การจิบน้ำเพียงนิดเดียวหรือสูบบุหรี่เพียงครั้งเดียวก็ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นใช้ไม่ได้ 

นอกจากนั้นยังห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันด้วย และชาวมุสลิมถูกส่งเสริมให้ระงับความโกรธ ด่าทอ นินทา และละเว้นพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่นๆ ในเดือนดังกล่าวนี้

ชาวมุสลิมยังได้รับการสนับสนุนให้ละหมาดครบ 5 เวลาทุกวัน อ่านคัมภีร์กุรอาน และขอพร รวมทั้งระลึกถึงองค์อัลเลาะห์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการถือศีลอด มุสลิมจะตื่นขึ้นมารับประทานอาหาร ที่เรียกกันว่า “ซุโฮร์” (suhoor) ซึ่งคือการรับประทานอาหารก่อนรุ่งอรุณเพื่อเป็นพลังงานให้พวกเขาตลอดทั้งวัน

ละศีลอดอย่างไร

มุสลิมจะละศีลอดตามประเพณีเสมือนกับศาสดามูฮัมหมัดได้ปฏิบัติไว้เมื่อ 1,400 ปีที่ผ่านมาด้วยการจิบน้ำและรับประทานอินทผาลัมเล็กน้อย หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว ก็จะรับประทานอาหารที่เตรียมไว้ (เรียกว่าอิฟตาร์ – ifttar) ร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ทั่วโลกมุสลิม มัสยิดและองค์กรการกุศลจะตั้งเต็นท์เลี้ยงอาหารฟรีสำหรับประชาชนทุกคืนตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ในประเทศอ่าวอาหรับ บรรดาเศรษฐีหรือคนร่ำรวย จะเปิดประตูบ้านของพวกเขาสำหรับคนที่ผ่านไปมาเพื่อเลี้ยงอาหาร ชา กาแฟ และสนทนาร่วมกัน

การยกเว้นจากการอดอาหาร

มีข้อยกเว้นสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน และคนที่เดินทาง ซึ่งอาจรวมถึงนักกีฬาในระหว่างการแข่งขัน

เดือนรอมฎอนสิ้นสุดเมื่อไหร่

หนึ่งเดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นขอวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง

ซึ่งเท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่ถ้าไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอน ที่เรียกว่าวัน “อีดฟิตริ”