หลายครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ทนายความชื่อดังมักตอบโต้ซึ่งกันและกัน หรือเปิดประเด็นตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างดุเดือดในคดีความต่างๆ กรณีล่าสุด ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว (27 มีนาคม 2566) ตอบโต้กรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำใบเสนอราคาของทนายตั้ม ภายใต้ชื่อสำนักงานกฎหมาย “ษิทราลอว์เฟิร์ม” ระบุค่าแถลงข่าวเป็นเงิน 300,000 บาท
การชี้แจงของทนายตั้ม ช่วงตอนหนึ่งได้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง ในการเรียกเก็บค่าแถลงข่าว จากลูกความที่มีกำลังจ่าย และเป็นคดีที่ตนเองสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ไม่เป็นการผิดมรรยาททนายความ พร้อมกล่าวพาดพิงถึงทนายความหญิง ว่ามีการเรียกเก็บค่าพาไปออกรายการดัง นำมาสู่การโพสต์ข้อความจากทนายนิด้า ศรันยา หวังสุขเจริญ ว่าไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย ที่แถลงข่าวพาดพิงถึงตนเอง แม้จะไม่ได้ระบุชื่อออกสื่อ แต่ได้รับข้อมูลจากหลังบ้านว่าพาดพิงตนเอง
เมื่อทนายเปิดฉากโต้ตอบกันเอง ด้วยประเด็นการเรียกเก็บเงิน ที่นอกเหนือไปจากค่าว่าความ ทำให้ประชาชนอาจมีข้อกังขาต่อวิชาชีพทนายความว่า กรอบในการปฏิบัติวิชาชีพทนายความนั้นเป็นอย่างไร อะไรทำได้ หรือทำไม่ได้บ้าง ฐานเศรษฐกิจ เปิดกฎหมาย ที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของอาชีพทนายความ
พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 หมวด มรรยาททนายความ
มาตรา 51 ระบุให้ ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ ที่กำหนดขึ้นโดยสภาทนายความ หากทนายความผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ
มาตรา 52 ระบุโทษของการผิดมรรยาททนายความ ได้แก่
ในกรณีทำผิดมรรยาททนายความเล็กน้อย และเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ เห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษ อาจว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้
ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ได้ระบุถึงมรรยาทที่ทนายความ ต้องปฏิบัติในด้านต่างๆ ดังนี้
มรรยาทต่อศาลและในศาล
มรรยาทต่อตัวความ (ลูกความ)
มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี และอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังมีมรรยาทในการแต่งกาย และมรรยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ ซึ่งหากทนายความกระทำการที่ผิดมรรยาททนายความ ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สภาทนายความฯ โดยผู้ร้องจะต้องเตรียมคำกล่าวหา หลักฐานการถูกกระทำ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะรับเรื่อง เข้าสู่การกลั่นกรอง หากพบว่าคดีมีมูล จะส่งขึ้นมายังประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อพิจารณาต่อไป