วันสงกรานต์!!สถานประกอบการ ระวังอุบัติภัยสารเคมี หน้าร้อน-วันหยุดยาว

13 เม.ย. 2566 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2566 | 03:03 น.

กรมควบคุมมลพิษ เตือนสถานประกอบการ ระวังอุบัติภัยสารเคมี ช่วงหน้าร้อนและวันหยุดยาว เทศกาลสงกรานต์ เผย ปี 65 เกิดอุบัติภัยจากสารเคมี 33 ครั้ง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยการเกิดอุบติภัยสารเคมีในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ มอบหมายให้ คพ. จัดเตรียมทีมตอบโต้เหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) 

พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์การตรวจวิเคราะห์มลพิษในภาคสนาม และห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม ณ ที่ตั้งกรมควบคุมมลพิษ ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 – 16 ร่วมปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและให้คำแนะนำทางวิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน สถานประกอบการต่างๆ จะหยุดทำการหรือลดการผลิตเพื่อให้พนักงานกลับภูมิลำเนา ประกอบกับเป็นช่วงฤดูร้อนมักเกิดอุบัติภัยสารเคมีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ สารเคมี หกรั่วไหลจากโรงงานทีใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น การเกิดไฟไหม้โรงงานหรือคลังจัดเก็บสารเคมี ไฟไหม้บริเวณสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย รถบรรทุกสารเคมีและวัตถุอันตรายพลิกคว่ำ การระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ

สงกรานต์ ! เตือนสถานประกอบการ ระวังอุบัติภัยสารเคมี

รวมทั้งการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ บ่อดิน เหมืองร้าง พื้นที่ข้างถนนหรือจุดพักรถ แหล่งน้ำสาธารณะ และพื้นที่ลับตาคน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีปี 2565 พบจำนวน 33 ครั้ง ได้แก่ ประเภทโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 22 ครั้ง การขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย จำนวน 8 ครั้ง และประเภทอื่นๆ เช่น เพลิงไหม้บ่อขยะ จำนวน 3 ครั้ง

คพ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 จึงจัดเตรียมความพร้อมของเครื่องมือและบุคลากรของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว และขอความร่วมมือส่วนราชการ เครือข่ายหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และสถานประกอบการต่างๆ ในการจัดเตรียมบุคลากรในการดูแลพื้นที่ เข้มงวดด้านความปลอดภัย

และระมัดระวังในการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย การจัดเก็บ สารเคมีและวัตถุอันตรายให้ถูกหลักวิชาการ ดูแลระบบเตือนภัยและการดับเพลิงให้ใช้งานเป็นปกติเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น โดยหน่วยงานท้องถิ่นหรือประชาชนผู้พบเหตุสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านทางสายด่วนมลพิษ 1650 นายปิ่นสักก์ กล่าว