อุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ สองวันแรกตาย 63 ราย ผบ.ตร.มั่นใจคุมอยู่

13 เม.ย. 2566 | 09:39 น.
อัพเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2566 | 09:42 น.

ผบ.ตร.มั่นใจคุมอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 2566 ได้ตามเป้า สองวันแรกตาย 63 ราย ขณะที่สถิติการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 11-12 เม.ย.66 มีตัวเลขสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 ร่วมกับตำรวจหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศ ว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 11-12 เม.ย.66 มีตัวเลขสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แต่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบสถิติสามปีย้อนหลัง และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงลดลงกว่าปีก่อน สถานการณ์ภาพรวมยังคงควบคุมและอำนวยการได้ตามเป้าหมาย

โดยปีนี้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวมีการเดินทางและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลง ปริมาณรถเข้า-ออก กทม.สูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยเมื่อวาน (12 เม.ย.66) มีรถเดินทางออกกว่า 645,100 คัน สูงกว่าปกติ 34% และสูงกว่าเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา 6.6%

ซึ่งได้อำนวยความสะดวกจราจร เปิดช่องทางพิเศษต่อเนื่องทั้งคืน ส่วนเช้าวันนี้การจราจรมีชะลอตัวช่วงบางปะอิน บางบัวทอง หนองแค กลางดง ปากช่อง และสายใต้ช่วงเมืองสมุทรสาคร แต่ยังคงเคลื่อนตัวได้ดี คาดว่าวันนี้ยังมีการเดินทางทั้งวัน แต่จะลดน้อยลงกว่าเมื่อวาน

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ

  • ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด
  • ตัดหน้ากระชั้นชิด
  • ดื่มแล้วขับ

โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ กระบะ นั่งส่วนบุคคล (ตามลำดับ) และถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดพบว่า เป็นถนนใน อบต./หมู่บ้าน ถนนทางหลวง ถนนในเมือง

ดำเนินคดี 10 ข้อหาหลักกว่า 143,436 ราย เป็นข้อหาเมาแล้วขับ 5,858 ราย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งจุดตรวจกว่า 1,585 จุด (จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 956 จุด จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 629 จุด)

สำหรับพื้นที่จัดงานสงกรานต์ได้สั่งการหน่วยให้ความสำคัญกับทุกๆ พื้นที่ที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น จัดงานขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัด กทม.จำนวน 40 แห่ง เช่น ถนนข้าวสาร สยามสแควร์ และในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี ขอนแก่น โคราชภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ

โดยกำชับทุกพื้นที่ให้การปฏิบัติกับผู้จัดงาน จัดตั้งกองอำนวยการร่วม (ศปก.สน.ศปก.พื้นที่) รองรับการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งจุดคัดกรอง บริหารจัดการพื้นที่อย่าให้มีความแออัด ตรวจสอบกล้อง CCTV เตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับทุกด้าน เช่น อัคคีภัย การส่งกลับทางการแพทย์ เหตุทะเลาวิวาทหรือการทำร้ายร่างกาย เหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน

สถิติสะสมในช่วงวันที่ 11-12 เม.ย.66 เกิดอุบัติเหตุ 618 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 75 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้น 13.81% แต่ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 107 ครั้ง หรือลดลง 14.76% มีผู้เสียชีวิต 63 ราย

ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 13 ราย หรือลดลง 17.11% และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 26 ราย หรือลดลง 29.21% ส่วนผู้บาดเจ็บ 618 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 84 ราย หรือเพิ่มขึ้น 15.73% แต่ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 112 คน หรือลดลง 15.34%

จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 25 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุดในพื้นที่ กทม. 7 ราย บาดเจ็บสูงสุดในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 27 ราย โดยมีสาเหตุหลัก คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 38.51% และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย 57.71%

โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนทางหลวงมากที่สุด 41.59% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 81.75% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือช่วง 19.00-20.00 น.

ดังนั้นจังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถิติที่สูงให้ปรับแผนการปฏิบัติเพิ่มเติมให้สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม เพื่อให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก รวม 143,436 ราย ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 31,913 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 28,093 ราย ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย เมาแล้วขับ 5,858 ราย ตามลำดับ