กิ้งกือสีชมพู หนึ่งเดียวในโลกสร้าง "สารไซยาไนด์" เพื่อป้องกันตัวเองได้

08 พ.ค. 2566 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 12:39 น.

กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดภาพ "หนึ่งเดียวในโลก กิ้งกือสีชมพู" ที่หุบป่าตาด ป่าดึกดำบรรพ์จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัวเองได้ตามธรรมชาติ 

จากกระแสข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับ สารไซยาไนด์ ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษสูง ที่น่าสนใจ ไซยาไนด์ มีหลายรูปแบบ ทั้งยังพบได้ในธรรมชาติ เช่น ในมันสำปะหลังหลังดิบที่หากรับประทานเข้าไปร่างกายจะย่อยสารบางชนิดทำให้เกิดเป็นไซยาไนด์เข้าสู่เซลล์ในร่างกายได้

ล่าสุด แฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพ กิ้งกือตัวหนึ่งมีสีชมพูสดใสสวยงาม พร้อมระบุข้อความว่า "หนึ่งเดียวในโลก กิ้งกือสีชมพู" กับ สารไซยาไนด์ ที่สร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งยังได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของกิ้งกือที่ปรากฎในภาพซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย 

"หนึ่งเดียวในโลก กิ้งกือสีชมพู" ที่หุบป่าตาด ป่าดึกดำบรรพ์จังหวัดอุทัยธานี  

หุบป่าตาดเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านชายเขา หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

กิ้งกือสีชมพู หนึ่งเดียวในโลกสร้าง \"สารไซยาไนด์\" เพื่อป้องกันตัวเองได้

ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับต้น ๆ ของจังหวัดอุทัยธานี พื้นที่นี้เคยเป็นถ้ำหินปูนมาก่อน ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้หลังคาถ้ำพังถล่มลงมา กลายเป็นหลุมยุบหรือหุบในปัจจุบันพบต้นไม้ดึกดำบรรพ์ ขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ต้นตาด สมพง ยมหิน ปอหูช้าง ปรง และกล้วยผา เป็นต้น

เมื่อปี 2550 ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ที่ต่อมาตั้งชื่อว่า "กิ้งกือมังกรสีชมพู"  (Shocking Pink Millipede)

จนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute of Species Exploration : IISE) แห่งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยืนยันให้กิ้งกือมังกรสีชมพู ที่หุบป่าตาด นี้เป็นสุดยอดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ อันดับที่ 3 ของโลก

ลักษณะเด่นของกิ้งกือสีชมพู

  • มีสีชมพู ที่โดดเด่นแบบ shocking pink มีรูปร่างที่สง่างาม มีลวดลายและปุ่มหนามตามลำตัวคล้ายมังกร จัดอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร หรือพาราดอกโอโซมาติเดีย (Paradoxosomatidea)
  • เมื่อโตเต็มวัย มีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีปล้องราว 20 ถึง 40 ปล้อง
  • เป็นสัตว์ที่สามารถขับสารพิษประเภท ไซยาไนด์ เพื่อป้องกันตัวเอง
  • พบเจอได้ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น เลียงผา ที่ออกมาหากินแทบทุกคืน

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุนเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลาศูนย์ 08.30 น. ถึงหนึ่ง 16.30 น. ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 11.00 น. ถึง 13.00 น. เป็นช่วงที่แสงอาทิตย์ส่องลงมายังหุบเขาทำให้เกิดภาพที่สวยงามบริเวณห้องโถงถ้ำกลาง ที่มีหินงอกหินย้อย ซึ่งถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันมากที่สุด