ความคืบหน้าการดำเนินคดี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 36 ปี หรือ แอม ไซยาไนด์ ผู้ต้องหาคดีฆ่า น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย ที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย ริมแม่น้ำแม่กลอง ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นั้น
ล่าสุด คณะพนักงานสอบ ได้นำตัว น.ส.แก้ว อายุ 60 ปี พยานปากสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ที่รับกล่องพัสดุภายในบรรจุทรัพย์สินของ น.ส.ศิริพร หรือก้อย เป็นกระเป๋าถือหรู 1 ใบ กระเป๋าเงิน 3 ใบ และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เข้าไปพบกับ นางสรารัตน์ หรือแอม ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง
โดยน.ส.แก้ว มีความประสงค์จะเข้าไปพบ แอม คาดว่าต้องการไปพูดคุยให้ แอม รับสารภาพ และอาจจะสอบถามถึงเรื่องทรัพย์สินดังกล่าว
ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางมาร่วมสอบสวน ซึ่งการนำตัว น.ส.แก้ว เข้าไปในเรือนจำวันนี้ เพื่อต้องการไปพูดคุยให้ นางแอม ให้การถึงการนำทรัพย์สินของ น.ส.ก้อย ส่งไปให้กับ น.ส.แก้ว พร้อมทั้งสอบสวนประเด็นที่ยังขาดเหลือในสำนวนคดี
ภายหลังจากสอบสวนเสร็จสิ้นใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่ได้สอบปากคำ โดยได้เพียงมาพูดคุยก่อน อาจจะสอบปากคำในวันหลัง ซึ่งมีการให้การที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาก ซึ่งมีการรับในข้อเท็จจริงในบางส่วนถึงรายละเอียดต่างๆ แต่เรื่องการฆาตรกรรมยังไม่รับสารภาพ
ทั้งนี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมาสอบปากคำ ส่วนความคืบหน้าในคดี เฉพาะตัว แอม ขอยืนยันว่า ไม่หนักใจ เพราะแม้เจ้าตัวจะโกหกอย่างไรก็ตาม หรือพูดไม่ตรง ไม่ยอมรับสารภาพเรื่องการเป็นผู้ลงมือฆ่า หรือ เป็นคนวางไซยาไนด์ แต่พยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงหมดแล้ว
ขณะที่การขอเปลี่ยนทนายความของนางแอม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ไม่มีผลทางคดี เป็นเพียงวิธีการของผู้ต้องหาเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะยังปฏิเสธ แต่ตำรวจมีพยานหลักฐานที่จะเชื่อมโยงการก่อเหตุได้ทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงข้อมูลเส้นทางการเงินที่รอตอบกลับมาจากธนาคาร รวมทั้งต้นตอผู้สั่งซื้อไซยาไนด์ให้กับนางแอม เชื่อว่าจะสามารถสรุปสำนวนส่งให้อัยการในบางคดีได้ภายในสัปดาห์หน้า
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะเริ่มสรุปสำนวนการสอบสวน เพื่อทยอยส่งสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีไปยังพนักงานอัยการ แต่ยังเหลือเนื้อหาสาระบางส่วนของสำนวนการสืบสวน และสำนวนการสอบสวน โดยวันนี้ได้นัดทั้งฝ่ายสืบสวน และสอบสวนเข้ามาบูรณาการร่วมกันทั้งหมด เพื่อสรุปสำนวนการสอบสวนใน 2 สัปดาห์
นอกจากนั้น จะเรียกผู้ใกล้ชิดมาแจ้งข้อกล่าวหา หรือ ขอศาลออกหมายจับอีก 1-2 คน ในสัปดาห์หน้าเช่นกัน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าทำหน้าที่อะไรบ้าง
“ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ตำรวจใช้เวลาตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ ใช้เวลาไม่นาน การทำสำนวนการสอบสวนเป็นไปอย่างรอบคอบ และรวดเร็ว วันนี้มั่นใจในเรื่องพยานหลักฐาน แต่การสอบสวนผู้ต้องหา แม้ผู้ต้องหาจะขอให้การในชั้นศาล แต่ในฐานะพนักงานสอบสวน มีอำนาจในการสอบสวนได้”
ส่วนเรื่องการส่งกระเป๋าของ น.ส.ก้อย ไปให้ น.ส.แก้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า แอมรับในข้อเท็จจริง ส่วนที่เขาโกหก ก็มีความผิดทั้งหมดแล้ว เนื่องจากเจ้าตัวเป็นผู้ต้องหา ไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาเพิ่ม
ทั้งนี้ แอม ได้บอกสาเหตุที่ส่งกระเป๋าไปให้ น.ส.แก้ว ว่า เพราะอะไรอย่างไรเนื่องจากเจ้าตัวจนแต้มไปไม่รอด ส่วนรายละเอียดว่าเพราะอะไรขออนุญาตไม่เปิดเผย ส่วนเงิน 50,000 บาท ของ น.ส.ก้อย ที่หายไป แอม บอกว่า น.ส.ก้อย ไม่มีเงิน แต่อย่างอื่นรับหมดทั้งโทรศัพท์และกระเป๋า ซึ่งโทรศัพท์อีกเครื่องที่หายไป ก็บอกว่าเอาไปทิ้งอย่างไรบ้าง เพราะมองว่าไอโฟนติดตามได้ ส่วนทองคำของ นายแด้ อดีตสามี นางแอม ก็ยอมรับว่า นำไปขายที่ร้านทอง แต่ปฏิเสธไม่รู้เรื่องที่ นายแด้ เสียชีวิต
เมื่อถามถึงนางแอมทำไมต้องให้การโกหกกับตำรวจว่า นำกระเป๋าของ น.ส.ก้อย ไปทิ้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เป็นวิธีการในการที่จะเอาตัวรอดของผู้ต้องหา ส่วนหนึ่งก็มีผู้แนะนำ เพราะวันนี้เขาตั้งทนายสู้คดี
ส่วน น.ส.แก้ว จะเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เพราะอ้างว่าเคยถูกนางแอมวางไซยาไนด์ ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน และ น.ส.แก้ว ยังไม่มีความผิดร่วม เนื่องจากมีเจตนานำของกลางมาให้ตำรวจตรวจสอบ เป็นคนที่นางแอมไว้วางใจ เพราะรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2563 และเป็นคนแนะนำให้รู้จักกับ ทนายพัช มาช่วยเหลือทางคดี
สำหรับการพูดคุยกับ นางแอม วันนี้ยังคงร้องไห้สลับกับหัวเราะ ไม่มีความเครียดมากนัก ส่วนก่อนหน้านี้ที่ทนายพัช ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า นางแอมไม่ต้องการให้บุคคลใดเข้ามาพบ รวมทั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ด้วย ก็เห็นว่า นางแอมไม่มีท่าทีที่จะไม่ให้เข้าพบ และไม่ได้ถามถึงในประเด็นดังกล่าว และการที่เข้ามาพบวันนี้ เป็นความต้องการของ น.ส.แก้ว พยานในคดี ไม่ได้เป็นการตามใจผู้ต้องหา
แต่หลังจากที่ น.ส.แก้ว มาพร้อมกับตำรวจวันนี้ นางแอม มีท่าทีระแวง ไม่ไว้ใจ น.ส.แก้ว เนื่องจากไปออกรายการโทรทัศน์ และอยู่กับตำรวจ แต่ไว้ใจ ทนายพัช มากกว่า ส่วนหลังจากนี้จะเรียก ทนายพัช มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะที่ นายชินคุปต์ ไทยยะกร ที่ถูกนางแอมแต่งตั้งให้เป็นทนาย เพื่อขอคำปรึกษาในเรือนจำ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นทนายความให้กับนางแอม โดยวันที่เข้าไปพบ เพราะเข้าไปพบลูกความของตัวเอง แต่นางแอมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน ให้มาขอคำปรึกษา จึงต้องแต่งตั้งทนายตามระเบียบของการเข้าพบผู้ต้องขัง
พร้อมยืนยันว่า จะไม่เป็นทนายความในคดีให้ เนื่องจากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ซึ่งยากต่อการต่อสู้คดี เพราะในครั้งแรกที่จะเข้าให้คำปรึกษา เข้าใจว่านางแอมจะรับสารภาพ และจะบอกถึงขั้นตอนการต่อสู้คดี ซึ่งในมุมมองของนักกฎหมายก็เห็นว่า คดีนี้หากจะต่อสู้คดีก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากพยานหลักฐานที่ปรากฎตามสื่อมวลชนค่อนข้างชัดเจน