นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า กรมฯเร่งติดตามเหตุรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารติดอยู่ในขบวนรถ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจ จนติดเทรนทวิตเตอร์อันดับ 1
ส่วนสาเหตุจากกรณีรถไฟฟ้า BTS เกิดเหตุขัดข้องนั้น เนื่องจากการรับส่งคลื่นของอาณัติสัญญาณขัดข้องชั่วขณะ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าหมายเลข 30 (รถไฟฟ้ารุ่นแรกที่นำมาให้บริการ) ที่เคลื่อนจากสถานีห้าแยกลาดพร้าวมุ่งหน้าสถานีหมอชิต ต้องเบรคอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัย แต่ขบวนรถได้หยุดในบริเวณที่ไม่มีรางจ่ายไฟ ส่งผลให้รถไฟฟ้าไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารตกค้างในขบวนรถ
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย โดยปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รถไฟฟ้าไม่สามารถรับกระแสไฟฟ้าจากภายนอกได้ ระบบรถฟ้าจะยังมีไฟฟ้าสำรองจากแบตเตอรี่ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้ระบบระบายอากาศ เป็นพัดลมระบายอากาศทำงานอยู่ภายในขบวนรถ ในช่วง 30 นาทีแรก
หลังจากนั้นระบบรถจะตัดระบบระบายอากาศ เพื่อประหยัดพลังงานไว้ใช้กับระบบที่สำคัญ เช่น ระบบประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์ (PA) และระบบสื่อสาร ซึ่งภายหลังจากระบบระบายอากาศถูกตัด พนักงานควบคุมรถไฟฟ้าได้ประกาศให้ผู้โดยสารภายในขบวนรถที่ขัดข้องเปิดหน้าต่างฉุกเฉิน เพื่อระบายอากาศ
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า กรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เน้นย้ำผู้ประกอบการขนส่งทางรางปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางรางครั้งที่ 3/2565 โดยที่ประชุมได้มีมติให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทุกเส้นทางดำเนินการเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดเหตุขัดข้องในระบบรถไฟฟ้า เพื่อผู้ให้บริการนำไปใช้ประกอบการดำเนินการป้องกันและรับมือเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ดังนี้
1. ด้านรถขนส่งทางราง
ดำเนินการตรวจสอบสภาพขบวนรถตามรายการตรวจสภาพ (Checklist) ทุกวัน อาทิเช่น การดำเนินการตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่สำรอง หรือแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าภายในขบวนรถสำรองให้มีความพร้อมใช้งานสูงสุด รวมถึงการบำรุงรักษาชิ้นส่วน/อุปกรณ์ขบวนรถตามรอบระยะเวลา (Preventive Maintenance) โดยซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ขัดข้องหรือถึงรอบระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยนแบบยกชุดเป็นสำคัญ เพื่อให้มีขบวนรถที่พร้อมให้บริการหรือขบวนรถสำรองในระบบในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
นอกจากนี้จัดทำแผนการจัดเตรียมชิ้นส่วนอะไหล่ (Spare Part) ให้สอดคล้องตามรอบระยะเวลาการบำรุงรักษา และรองรับกรณีเหตุขัดข้องจากชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนแบบยกชุดเป็นสำคัญ ตลอดจนจัดให้มีการบริการตู้โดยสารสำรองเพื่อหมุนเวียนตู้โดยสารที่ใช้วิ่งบริการในเวลาเร่งด่วน โดยยังคงจัดเตรียมขบวนรถสำรอง สำหรับวิ่งให้บริการทดแทนในกรณีเกิดเหตุขัดข้องได้อย่างทันท่วงที
2. ด้านการประชาสัมพันธ์
จัดทำแผนและซักซ้อมการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้โดยสารทราบถึงสถานการณ์กรณีเกิดเหตุขัดข้องต่าง ๆ อย่างทันท่วงทีและครบถ้วน อาทิ ขบวนรถเกิดเหตุขัดข้องและมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ และแนวทางปฏิบัติของผู้โดยสารเป็นระยะ
3. ด้านการประสานความร่วมมือ
ประสานกับผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเตรียมแผนการรองรับการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุขัดข้องที่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถอย่างมากหรือใช้ระยะเวลาแก้ไขนาน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้อย่างสะดวกและทันท่วงที
4. ด้านการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ
จัดอบรมพัฒนาทักษะทีมบุคลากรช่างเทคนิคอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการซักซ้อมเหตุขัดข้องจากโครงสร้างและอุปกรณ์ในเขตราง (Railway Structure) ในกรณีต่าง ๆ แบบเสมือนจริง เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการแก้ไขและทำให้ขบวนรถสามารถวิ่งให้บริการตามตารางเดินรถปกติได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุจากเหตุขัดข้องที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์หรือควบคุมได้ อาทิ เหตุระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ขัดข้อง
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้โดยสารเมื่อได้รับผลกระทบ กรมการขนส่งทางรางจะหารือกับผู้ให้บริการเพื่อพิจารณามาตรการเยียวยา ดังนี้
1. มาตรการให้ผู้ให้บริการขนส่งทางรางออกใบรับรองเพื่อนำไปใช้กับที่ทำงาน หรือโรงเรียน ว่ารถไฟฟ้าเกิดเหตุล่าช้าโดยระบุระยะที่ให้บริการล่าช้าเป็นจำนวนนาที
2. มาตรการคืนค่าโดยสารเต็มจำนวนหากประสบเหตุขัดข้องส่งผลให้ล่าช้ามากกว่า 30 นาที
3. ให้ผู้ให้บริการขนส่งทางรางกำหนดกรณีที่จำเป็นต้องอพยพผู้โดยสาร และวิธีการดำเนินการ รวมถึงการซ้อมเผชิญเหตุให้ชัดเจน เพื่อลดความกังวลของผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด