เปิดที่มาชุดลูกเสือ  เนตรนารี ยุวกาชาด หลังรัชนก ของดแต่งเครื่องแบบ

20 พ.ค. 2566 | 12:28 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 13:07 น.

เปิดที่มาชุดลูกเสือ  เนตรนารี ยุวกาชาด หลังรัชนก ศรีนอก ว่าที่ส.ส. พรรคก้าวไกล ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงผอ.โรงเรียนใน กทม. เขต 28 รวม 30 โรงเรียน ของดสวมชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ลดภาระผู้ปกครอง

จากกรณีที่ นางสาวรัชนก ศรีนอก ว่าที่สมาชิกผู้แทนราษฎร เขต 28 ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการโรงเรียนในกรุงเทพมหานครเขต 28 ทั้งหมด 30 โรงเรียน ขอให้พิจารณายกเว้น การแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวดี สภาวะเงินเฟ้อยังไม่คลี่คลาย โดยขอให้สวมใส่เพียงผ้าพันคอกับวอกเกิ้ลเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง

นางสาวรัชนก ศรีนอก ขอโรงเรียน งดแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

ขอเรียกร้องดังกล่าว นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในสังคม ฐานเศรษฐกิจ จึงเปิดที่มาของการแต่งชุด ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด 

ที่มา "ลูกเสือ เนตรนารี"

การลูกเสือ ได้อุบัติขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก โดยลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของ ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งได้ตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ

ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell)

เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย ก็ได้ทรงจัดตั้ง "กองเสือป่า" (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

วันที่ 1 กรกฎาคม 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้น ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง และทรงตั้ง "กองลูกเสือ" กองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ” ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นายชัพท์ บุนนาค เกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะให้สตรีและเด็กหญิงได้มีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือ โดยทรงเห็นว่าสามารถที่จะเป็นกำลังให้กับชาติบ้านเมืองได้ แม้จะไม่ใช่กองกำลังหลักก็ตามที ดังนั้นจึงทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งพระองค์เรียกว่าสมาชิกแม่เสือ

ในขณะเดียวกันก็ทรงจัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กหญิง และพระราชทานชื่อว่า "เนตรนารี" ซึ่งเนตรนารี กองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้เป็นชื่อ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

ประเภทลูกเสือ

1. ลูกเสือสำรอง (Cub Scout) อายุ 8 – 11 ปี เทียบชั้นเรียน ป.1-ป.4 คติพจน์: จงทำดี (Do Our Best)

2. ลูกเสือสามัญ (Scout) อายุ 11 – 16 ปี เทียบชั้นเรียน ป.5-ป.6  คติพจน์: จงเตรียมพร้อม (Be Prepared)

3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout) อายุ 13 – 18 ปี เทียบชั้นเรียน ม.1-ม.3 คติพจน์: มองไกล (Look Wide)

4. ลูกเสือวิสามัญ (Rover) อายุ 16 – 25 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4-ม.6  คติพจน์: บริการ (Service)

ที่มา "ยุวกาชาด"

กิจการยุวกาชาดไทย ก่อตั้งขึ้นโดยพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2465 ในชื่อ “กองอนุสภากาชาดสยาม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กองอนุกาชาด” “กองยุวกาชาด” และ “สำนักงานยุวกาชาด” ในปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

หมู่ยุวกาชาดแห่งแรกในประเทศไทย

จอมพล สมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม ทรงมีพระราชปรารภถึงคณะกรรมการสภากาชาดสยาม ถึงการที่จะตั้งสภากาชาดแผนกเด็กขึ้น ดังที่บางประเทศได้ดำเนินการได้ผลดีมาแล้ว หากสภากาชาดสยามจะได้จัดตั้งสภากาชาดแผนกเด็กขึ้นบ้างและเรียกชื่อว่า อนุสภากาชาด ก็จะนับว่าเป็นการทันสมัยนิยม ไม่เป็นการล้าหลัง 

คณะกรรมการสภากาชาดสยามได้มีมติให้จัดตั้งอนุสภากาชาดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2465 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมเด็กให้มีความรู้ในเรื่องการรักษาอนามัยของตนเอง และของผู้อื่น มีใจเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ เนื่องด้วยกิจการนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการรับเป็นภาระจัดการ 

ภายหลังจากที่สภากาชาดได้ประกาศจัดตั้งกิจการอนุสภากาชาดขึ้นเพียง 2 เดือน โรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2447 ก็ได้ขออนุญาตเปิดดำเนินงานอนุสภากาชาดขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อ วันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2465 โดยมีหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ดำรงตำแหน่งนายกหมู่เป็นท่านแรก และได้จัดพิธีเข้าประจำหมู่ขึ้นเป็นแห่งแรก

"พิธีเข้าประจำหมู่" เป็นพิธีที่สำคัญของสมาชิกยุวกาชาด โรงเรียนที่จัดตั้งหมู่ยุวกาชาดจะต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละครั้ง ในภาคแรกของปีการศึกษา เพื่อให้นักเรียนใหม่ที่สมัครเป็นสมาชิกได้ปฏิญาณตน 

คำปฏิญาณตนยุวกาชาด

ข้อ 1 ข้าฯ จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าฯ จะเป็นมิตรกับคนทั่วไป และจะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ข้อ 3 ข้าฯ จะรักษาอนามัยของตนเองและส่งเสริมอนามัยของผู้อื่น

ที่มา : สำนักลูกเสือแห่งชาติ , สภากาชาดไทย