ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ รับรองชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะภาษาไทย "แก้วโกสินทร์ - ไพลินสยาม"
ทั้งนี้ สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้จัดกิจกรรม NameExoWorlds 2022 เพื่อตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่จำนวน 20 ระบบ ที่เป็นเป้าหมายหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
ในกิจกรรม NameExoWorlds 2022 มีชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกเสนอ 603 ชื่อจาก 91 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกประมาณ 12 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดกิจกรรม "เสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ" ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ และเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีหอดูดาวแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนทั่วไปร่วมเสนอชื่อไทยให้กับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b
ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัย และสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมดังกล่าว ได้รับความสนใจจากโรงเรียนและประชาชนทั่วไป มีชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ถูกเสนอมากกว่า 335 ชื่อ ชื่อดังกล่าวได้ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปโหวตเลือกชื่อภาษาไทยในรอบตัดสิน
ชื่อที่มีผลคะแนนโหวตสูงสุด ได้แก่ "แก้วโกสินทร์" และ "ไพลินสยาม" เสนอโดย นายหัสดินทร์ พัฒนากร และนายเฉลิมวุธ สมณา ชื่อดังกล่าวมีแนวคิดการตั้งชื่อจากความเชื่อของคนไทยโบราณที่ว่า
ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้า คือ แก้วรัตนชาติที่ประดับสรวงสวรรค์ บนสวรรค์มีพระอินทร์เป็นใหญ่ปกครองเหล่าเทวดา พร้อมด้วยแก้ววิเศษ ดาวแม่จึงมีชื่อว่า "แก้วโกสินทร์" อีกนัยยะ คือ รัตนโกสินทร์ คือยุคที่ค้นพบดาวดวงนี้ และมีดาวบริวารเป็นรัตนชาติสีฟ้า คือ "ไพลินสยาม" ที่มีชื่อคล้องจองกันเป็น “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม”
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติประกาศการรับรองชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470b "แก้วโกสินทร์" และ "ไพลินสยาม" ร่วมกับชื่อเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่อีก 19 ระบบ ชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470b นับเป็นระบบดาวเคราะห์นอกระบบ ระบบที่ 3 ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย
ถัดจากระบบดาวเคราะห์นอกระบบ 47 UMa "ชาละวัน-ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง" และ WASP-50 "เจ้าพระยา-แม่ปิง" ที่ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยมาก่อนหน้านี้
ดร. ศุภชัย อาวิพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ สดร. เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความผูกพันและสำคัญต่อประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของไทยจากการที่เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย
การที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ครั้งแรกด้วยกล้องโทรทรรศน์ของไทย การศึกษาด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเทศไทยได้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
มีการค้นพบใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ หรือการค้นพบน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทยในการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติ