อัพเดต "แผ่นดินไหว" กรมทรัพยากรธรณี ยังไม่มีรายงานความเสียหาย

19 มิ.ย. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 10:05 น.

กรมทรัพยากรธรณี อัพเดต "แผ่นดินไหว" เผยเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย ระบุตึกสูงกทม. 5-45 ชั้นอาจรู้สึกถึงแรงสั่นไหวแต่อาคารอาจไม่ได้รับเสียหายเนื่องจากหลังปี 2550 กฎหมายกำหนดให้การก่อสร้างถูกออกแบบรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0  (15.266°N , 96.248°E ) เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เมื่อเวลา 08.57 น.

ล่าสุด นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวาซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี

อย่างไรก็ดี แม้จะมีศูนย์กลางเกิดในทะเลแต่ด้วยขนาดแผ่นดินไหวน้อยกว่าระดับ 7 โอกาสเกิดสึนามิจึงแทบไม่มีแต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทั่วกรุงเทพฯ และบางส่วนของจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี

เนื่องจากกรุงเทพมหานคร รองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อนเมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกลจะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย"

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง