นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุถังดับเพลิงระเบิด ขณะซ้อมดับเพลิงในโรงเรียนราชวินิต มัธยม สมอ. ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุม และกำกับดูแลคุณภาพของสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน จะเร่งดำเนินการทบทวนมาตรฐานถังบรรจุก๊าซทุกชนิด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)
ซึ่งเป็นบอร์ดของ สมอ. ให้พิจารณาถึงความจำเป็นในการบังคับให้ถังบรรจุก๊าซทุกชนิดเป็นสินค้าควบคุม เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน ตามนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดูแลชุมชนและสังคม
นายบรรจง กล่าวว่า ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานถังดับเพลิงแล้ว 3 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานภาคบังคับจำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐาน มอก. 882-2532 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดโฟม ใช้กับสารดับเพลิงประเภท B มีผู้ได้รับใบอนุญาตจำนวน 6 ราย และ มอก. 332-2537 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง ใช้กับสารดับเพลิง ประเภท A(เพลิงที่เกิดจากวัตถุติดไฟทั่วไป เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก) B(เพลิงที่เกิดจากของเหลวหรือก๊าชไวไฟ เช่น ก๊าช ไข น้ำมันต่างๆ)
และ C(เพลิงที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือวัตถุที่มีกระแสไฟฟ้า) มีผู้ได้รับใบอนุญาตจำนวน 44 ราย ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายทั้งทำและนำเข้าจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า สำหรับผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย
ส่วนอีก 1 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจหรือมาตรฐานทั่วไป ได้แก่ มอก. 881-2532 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้กับสารดับเพลิงประเภท B และ C ปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ.
โดยถังดับเพลิงที่ได้มาตรฐาน มอก. มีข้อกำหนดที่สำคัญด้านความปลอดภัย ได้แก่ ผิวด้านนอกและด้านในของถังต้องเคลือบด้วยสารที่ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี การทนความดันจนแตกต้องทนความดันได้ 4 เท่าของความดันใช้งาน ต้องไม่รั่ว ข้อต่อและอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐาน ท่ออัดก๊าชแบบไร้ตะเข็บที่อยู่ภายในตัวถังดับเพลิง ต้องทนความดันได้ไม่น้อยกว่า 3 เท่า ส่วนท่อแบบอื่น ต้องทนความดันได้ไม่น้อยกว่า 4 เท่า เป็นต้น
นายบรรจง กล่าวอีกว่า กรณีอุบัติเหตุถังดับเพลิงระเบิดขณะซ้อมดับเพลิงในโรงเรียนราชวินิต มัธยม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่ของ สมอ. ในวันเกิดเหตุเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า เป็นถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ซึ่ง สมอ. มีมาตรฐานเรื่องนี้อยู่แล้วคือ มอก. 881-2532
แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. เนื่องจากเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ เพราะถังดับเพลิงชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงน้อยกว่าถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในการใช้งานอย่างแพร่หลาย สมอ. จึงไม่ได้ประกาศเป็นสินค้าควบคุม โดยหลังจากนี้ สมอ. จะทบทวนมาตรฐานถังบรรจุก๊าซทุกชนิด รวมถึงถังดับเพลิงด้วย เพื่อประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นายบรรจง กล่าวว่า ผู้บริโภคที่จะซื้อถังดับเพลิงไปใช้งานในอาคารบ้านเรือน สำนักงาน โรงเรียน หรือในชุมชน สมอ. ขอแนะนำวิธีการเลือกซื้อถังดับเพลิงที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยต้องเลือกถังดับเพลิงที่มีเครื่องหมาย มอก. มีหมายเลข มอก. แสดงชื่อผู้รับใบอนุญาต และต้องมี QR Code ยืนยันข้อมูลผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง สภาพถังต้องไม่เป็นสนิม ไม่บวมหรือบุบ
และการประกอบถังต้องเป็นการเชื่อม ความดันเครื่องดับเพลิงเข็มชี้จะต้องอยู่ในพื้นที่สีเขียว (ความดันปกติ) สายฉีด ด้ามบีบ สลักล็อก ป้องกันการฉีด ต้องพร้อมใช้งาน และต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน กรณีใช้งานแล้วถึงแม้ไม่หมดถัง ต้องนำไปบรรจุสารดับเพลิงใหม่ทุกครั้งเพื่อให้พร้อมใช้งาน ที่สำคัญขอให้ศึกษาวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น ควรติดตั้งภายในอาคารเพื่อป้องกันความร้อนและฝน ป้องกันการเสื่อมสภาพของสารดับเพลิงภายใน หมั่นดูแลรักษาสภาพถังดับเพลิงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอทุก ๆ 3 เดือน ต้องจับเครื่องดับเพลิงคว่ำลงเพื่อป้องกันการจับตัวของสารดับเพลิง เป็นต้น