กรมชลฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลากควบคู่น้ำแล้ง

08 ก.ค. 2566 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 06:54 น.

กรมชลประทาน ตั้งรับสถานการณ์น้ำ ย้ำโครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยาบริหารจัดการน้ำ 2 มิติ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายประพิศ  จันทร์มา  อธิบดีกรมชลประทาน   เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66  พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน  จะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กรมชลฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลากควบคู่น้ำแล้ง  

ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่   ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าทั้งในลำน้ำสายหลัก  และลำน้ำสาขา  อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ แม้ในขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญก็ตาม

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น  จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทาน  โครงการก่อสร้าง รวมไปถึงสำนักเครื่องจักรกล โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน   ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด  นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ  และสอดคล้องกับสถานการณ์   ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่

โดยใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน  อย่างเป็นระบบและเต็มศักยภาพ  พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการในการเตรียมพร้อมความรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  กำหนด  สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมฯ อย่างเคร่งครัด  ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ  พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์   หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำรวมทั้งขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น 

รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง  พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด 

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า  ปัจจุบัน ( 8 ก.ค.66)  4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,557 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66  ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม.  หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.)  ภาพรวมการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 6.43 ล้านไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ (แผน 8.05 ล้านไร่) 

กรมชลฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลากควบคู่น้ำแล้ง

 โดยกรมชลประทาน ได้ทำการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน  เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้  พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดู และข้อสั่งการของกรมฯ อย่างเคร่งครัด   ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำหลากรวมทั้งสถานการณ์เอลนีโญ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ