ปลดล็อกให้สิทธิอยู่อาศัยทำกินถูกกฎหมาย พื้นที่อุทยาน-เขตห้ามล่าสัตว์

11 ก.ค. 2566 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 23:39 น.

รัฐบาลคลอด 2 กฎหมายช่วยคนจน ปลดล็อกให้สิทธิประชาชนอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างถูกกฎหมาย บริเวณเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฯ ทั้งภายในอุทยานแห่งชาติ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า-เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 14 แห่ง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ ประกอบด้วย

  • ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....
  • ร่างพระราชกฤษฎีกากาหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. .... 

สาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกิน ทั้งภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ก่อนที่มีการประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ 

รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายก่อนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีผลบังคับใช้ แยกเป็น

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... 

มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้จัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 7 แห่ง เป็นระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ประกอบด้วย

  1. อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ. จันทบุรี 
  2. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ. จันทบุรี 
  3. อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จ. กาญจนบุรี 
  4. อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จ. อุตรดิตถ์ 
  5. อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จ. เพชรบูรณ์ 
  6. อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ. เพชรบูรณ์
  7. อุทยานแห่งชาติลานสาง จ. ตาก 

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับสิทธิ

กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการฯ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้) หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
  • มีสัญชาติไทย หรือได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่
  • มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่โครงการฯ หรือได้ครอบครองที่ดินรวมทั้งทำประโยชน์มาโดยต่อเนื่อง และไม่มีที่ดินทำกินอื่น
  • ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากที่ดินที่ครอบครองนั้นมาก่อน
  • ไม่เคยถูกดำเนินคดีและคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาในความผิดเกี่ยวกับการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาตินับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ
  • ไม่เคยถูกพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ

หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน

กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้โครงการฯ มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่โครงการฯ และกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน ดังนี้

  • ครอบครองและใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง และจะให้บุคคลอื่นที่มิใช่บุคคลในครอบครัวเข้าครอบครองหรือทำประโยชน์แทนมิได้ โดยมิได้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตามจำนวนที่ได้ทำการสำรวจ แต่ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ และในกรณีที่อยู่กันเป็นครัวเรือนตั้งแต่สามครอบครัวขึ้นไป ไม่เกินครัวเรือนละ 50 ไร่
  • ต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ห้ามซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอน การครอบครองให้บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการสืบสิทธิตามพระราชกฤษฎีกานี้
  • ห้ามบุกรุก แผ้วถาง หรือขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายหรือทำลายหลักเขต ป้ายแนวเขต หรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตโครงการฯ

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

 

2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. ....

มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 7 แห่ง เป็นระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ประกอบด้วย

  1. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล จังหวัดพิษณุโลก 
  2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
  3. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ จังหวัดเชียงราย
  4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี
  5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ 
  6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี 
  7. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา จังหวัดอุตรดิตถ์ 

คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับสิทธิ

กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการฯ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้) หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
  • มีสัญชาติไทย หรือได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่
  • มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่โครงการฯ หรือได้ครอบครองที่ดินรวมทั้งทำประโยชน์มาโดยต่อเนื่อง และไม่มีที่ดินทำกินอื่น
  • ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากที่ดินที่ครอบครองนั้นมาก่อน
  • ไม่เคยถูกดำเนินคดีและคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาในความผิดเกี่ยวกับการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่านับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ
  • ไม่เคยถูกพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

 

หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน

กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภายใต้โครงการฯ มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่โครงการฯ และกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน ดังนี้

  • ครอบครองและใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง และจะให้บุคคลอื่นที่มิใช่บุคคลในครอบครัวเข้าครอบครองหรือทำประโยชน์แทนมิได้ โดยมิได้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตามจำนวนที่ได้ทำการสำรวจ แต่ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ และในกรณีที่อยู่กันเป็นครัวเรือนตั้งแต่สามครอบครัวขึ้นไป ไม่เกินครัวเรือนละ 50 ไร่
  • ต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ห้ามซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอนการครอบครองให้บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการสืบสิทธิตามพระราชกฤษฎีกานี้
  • ห้ามบุกรุก แผ้วถาง หรือขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายหรือทำลายหลักเขต ป้ายแนวเขต หรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตโครงการฯ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ฎ 2 ฉบับนี้เป็นการสร้างสมดุลในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยและทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมายและยังให้การอนุรักษ์ธรรมชาติมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป