ครม.ยกเลิก โรคจิต-อารมณ์ผิดปกติ ไม่เป็นโรคต้องห้ามเข้ารับราชการ

18 ก.ค. 2566 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2566 | 08:39 น.

ที่ประชุม ครม. คลอดร่างกฎ ก.พ. ยกเลิก โรคจิต และ โรคอารมณ์ผิดปกติ ปรากฎอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ออกจากโรคต้องห้ามในการรับราชการ

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... ตามที่ สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยปรับปรุงแก้ไขร่างกฎ ก.พ. ฉบับเดิม โดยยกเลิกข้อความการกำหนดให้โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ(Mood Disorder) ที่ปรากฎอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ออกจากโรคต้องห้ามในการรับราชการ

สำหรับเหตุผลของการปรับปรุงกฎ ก.พ. ฉบับเดิม นั้นที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( สำนักงาน ก.พ.) เกี่ยวกับร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... ถึงการกำหนดโรคอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการ 

โดยเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือ โรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบุคคลที่ป่วยโรคดังกล่าวไม่มีความสามารถในการทำงานใด ๆ และอาจเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดโรคอันมีลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ วันนี้ ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... โบดบใหม่ โดยยกเลิกข้อความการกำหนดให้โรคจิต หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ ออกไปจากกฎ ก.พ.เดิม

ส่วนโรคอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการของบุคคล ตามที่กำหนดในร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... ฉบับนี้ ยังคงเดิม ได้แก่ 

  • โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 
  • โรคติดยาเสพติดให้โทษ 
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง 
  • โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ 

พร้อมกันนี้ยังกำหนดวิธีการตรวจโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. กำหนด

โดย ร่างกฎ ก.พ. ฉบับใหม่ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ทีมโฆษกรัฐบาล แถลงผลการประชุมครม.