รู้จัก “ดอกเข้าพรรษา” ดอกไม้มงคล ประจำเทศกาลเข้าพรรษา ที่มาและความหมาย

31 ก.ค. 2566 | 01:21 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2566 | 02:03 น.

ทุกๆปีที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จะมีประเพณีตักบาตร “ดอกเข้าพรรษา” เป็นการตักบาตรด้วยดอกไม้ ที่กล่าวกันว่าเป็นไม้มงคล และจะบานเฉพาะช่วงฤดูกาลนี้เท่านั้น เรามาทำความรู้จักดอกเข้าพรรษา พร้อมที่มา-ความหมายในวันสำคัญนี้   

   

วันเข้าพรรษาปี 2566 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม พุทธศาสนิกชนเตรียม ทำบุญตักบาตร สร้างกุศลกัน วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการและเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา กิจกรรมโดยทั่วไปนอกจากการทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา การถือศีล 5 และบางพื้นที่ยังมีการร่วมมือร่วมใจซ่อมแซมวัด แต่ที่ วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ยังมีกิจกรรมพิเศษที่สืบทอดเป็นประเพณีมายาวนาน นั่นคือการตักบาตร “ดอกเข้าพรรษา” ดอกไม้กลีบบอบบางสีขาว เหลือง ชมพู ม่วง ซึ่งประเพณีนี้มีที่มาและความหมายลึกซึ้ง  

ดอกเข้าพรรษา” หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า “ดอกหงส์เหิน” บางท้องถิ่นเรียกว่า กล้วยจะก่าหลวง และกลางคาน เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนในป่าร้อนชื้น และเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายกระชาย กาบใบเรียงตัวกันแน่น สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว

ดอกเข้าพรรษาหลากสีสัน

ความโดดเด่นอยู่ที่ส่วนดอก มีลักษณะอ่อนช้อยสวยงามยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปหงส์กำลังเหินบิน และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น

  • สีเหลืองหมายถึง สีแห่งพระสงฆ์
  • สีขาวหมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา
  • และสีชมพูอมม่วงเป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงจะได้บุญกุศลมากที่สุด

ลักษณะดอกจะแทงจากยอดเป็นช่อโค้ง ลักษณะห้อยตัวลงเรียงเป็นรวงยาวแน่น และซ้อนเหลื่อมกันปลายโค้งออกดูอ่อนหวานงดงาม ดอกไม้ชนิดนี้ ในหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในประเทศไทยพบมากที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ขึ้นเองตามไหล่เขา แต่ปัจจุบัน ดอกเข้าพรรษากลายเป็นไม้เศรษฐกิจประเภทหนึ่ง มีการนำมาเพาะปลูกในหลายพื้นที่

ดอกเข้าพรรษาสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา

ความเชื่อเกี่ยวกับดอกเข้าพรรษา

สำหรับประเพณีการตักบาตรดอกเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรีนั้น ตั้งแต่โบราณกาลชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาซึ่งขึ้นตามธรรมชาติตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุ ในเขตอำเภอพระพุทธบาท เพื่อนำมาตักบาตร แต่ในปัจจุบันเกษตรกรได้พัฒนาการปลูกดอกเข้าพรรษาได้ ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งปี สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งดอกเข้าพรรษาจะมีหลากสีสัน ประกอบด้วย สีม่วง สีเหลือง สีแดง และสีขาว

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าของวันเข้าพรรษาประชาชนจะนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรแด่พระสงฆ์ที่วัด ซึ่งหลังจากพระสงฆ์รับบิณฑบาตจากประชาชนแล้ว ก็จะนำดอกเข้าพรรษามาสักการะรอยพระพุทธบาท ตามความเชื่อว่าผลบุญจะส่งให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ลักษณะต้นดอกเข้าพรรษา (หงส์เหิน) ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด https://oer.learn.in.th/

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณที่ยังต้องมีการเข้าป่าเพื่อหาของยังชีพ หรือการเดินทางค้าขายต่างถิ่น หากต้องค้างอ้างแรมในป่าช่วงฤดูฝน คนในสมัยนั้นมักจะเลือกพักใกล้ๆ กับจุดที่มีดอกเข้าพรรษาขึ้นอยู่ ด้วยความเชื่อที่ว่า ดอกเข้าพรรษามีพุทธคุณช่วยป้องกันให้แคล้วคลาดจากอันตราย จากวิญญาณเร่ร่อน หรืออาถรรพ์ต่างๆในป่า  อีกทั้งยังนิยมพกดอกเข้าพรรษาตอนเดินทางเพื่อกันการหลงทาง

สำหรับบ้านเรือนต่างๆ ยังนิยมปลูกไว้บริเวณบ้านเพื่อป้องกันภยันตราย ไม่ให้กร้ำกรายเข้ามาในบ้านด้วย