thansettakij
4 สิงหาคม วันสื่อสารแห่งชาติ เปิดจุดเริ่มต้นและที่มา

4 สิงหาคม วันสื่อสารแห่งชาติ เปิดจุดเริ่มต้นและที่มา

04 ส.ค. 2566 | 00:20 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 02:29 น.

4 สิงหาคมของทุกปี คือ วันสื่อสารแห่งชาติ เปิดจุดเริ่มต้นและที่มาอย่างละเอียด

วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ จุดเริ่มต้นของวันสื่อสารแห่งชาติ ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "กรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข" ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 และทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์ วรเดช เป็นผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรกต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ทั้ง 2 กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน มีชื่อใหม่ว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข”

สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประสูติเมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2402 ณ พระตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระศรีสลาไลย ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์” มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดา 3 พระองค์ ได้แก่
1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
2. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์
3. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (กรม-พระ-จัก -กะ-พัด -ดิ-พง)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคสมัยที่สยามประเทศจะต้อง มีการปฏิรูปในหลายๆ ด้านพร้อมกัน เพื่อปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ


 

บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแผ่นดินสยามยุคนั้นพระองค์หนึ่ง ก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุ วงศ์วรเดช ทรงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง ทรงประกอบพระกรณียกิจถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวถึง 3 รัชกาล ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 พระองค์ได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณเป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”

พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้หลายด้าน ทรงประกอบพระราชกิจในด้านต่างๆ จนได้รับพระมหา กรุณาธิคุณให้เลื่อนตำแหน่งชั้นยศ ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนสูงขึ้นเป็นลำดับ อาทิ ทรงเป็นเสนาบดีว่าการ กรมยุทธนาธิการ ทรงเป็นจอมพลทหารบกและจอมพลเรือองค์แรกของไทย ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรเลขพระองค์แรก เป็นต้น อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นที่โปรดปรานของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กอปรกับที่ทรงช่วยราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย อย่างยิ่ง ทั้งในส่วนราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ ดังนั้นเมื่อพระชันษาได้ 17 ปี รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานสร้างวัง “บูรพาภิรมย” ซึ่งก็คือตำแหน่งที่เป็นย่านวังบูรพาทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นที่รู้จัก ของประชาชนในสมัยนั้นว่า “สมเด็จวังบูรพา”

นอกจากนี้ยังทรงเป็นต้นราชสกุล “ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา” ทรงเสกสมรสกับหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค) โดยได้รับการยกย่องให้เป็นสะใภ้หลวง และยังมีหม่อมอีก 6 คน มีพระโอรสและ พระธิดา รวมทั้งหมด 15 องค์ เสด็จทิวงคต ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2471 สิริพระชันษา 68 ปี

 

สำหรับพระกรณียกิจในด้านการสื่อสารนั้น ทรงเป็นเป็นบุคคลแรกในการจุดประกายกิจการด้านสื่อสาร ไปรษณีย์ให้เกิดขึ้นบนสยามประเทศ ทรงร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่ง มี ชื่อภาษาอังกฤษว่า “COURT” (คอต) ซึ่งแปลว่า “พระราชสานัก” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทยในภายหลัง ว่า “ข่าวราชการ” เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อราชการและความเป็นไปในราชสำนักข่าวเหตุการณ์ บ้านเมืองเฉพาะในหมู่เจ้านายเป็นสำคัญ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ หอนิเพทพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง และ โปรดให้มี “บุรุษหนังสือ” หรือ (postman) เพื่อนำส่งให้สมาชิกในตอนเช้าทุกวันพร้อมกันนั้นทรงจัดพิมพ์ “ตั๋วแสตมป์” เพื่อใช้เป็นค่าบริการส่งหนังสือที่จะจำหน่ายแก่สมาชิกผู้รับหนังสือข่าวราชการด้วย

ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ใส่พระทัยในเรื่องการ ไปรษณีย์ จึงมีพระราชดำรัสให้ ก่อตั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทร เลขขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ทรงได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข พระองค์แรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ทั้ง 2 กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน โดยมีชื่อว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข

จนกระทั่งมาถึงก้าวสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจากราชการมาเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อปี พ.ศ. 2520 บริการโทรคมนาคมในยุคของการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นน ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงคมนาคม ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาบริการสื่อสารโทรคมนาไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ

หลังจากนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ขึ้น ในปี 2546 การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ถูก แปลงสภาพออกเป็น 2 บริษัท 1 ในนั้นคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จากัด (มหาชน) หรือ CAT และล่าสุดเมื่อ วันที่ 7 มกราคม ปี 2564 CAT และ TOT ได้ควบรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เสริมศักยภาพ ทรัพยากรด้านสื่อสารโทรคมนาคมและสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยังคงฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม และมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 100%

จากวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 จวบจนในวันนี้ 140 ปี การสื่อสารโทรคมนาคมก็ยิ่งกลายเป็น ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ให้ทันต่อสถานการณ์ของโลกที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ เฉกเช่นที่เราเห็นกันทุกวันนี้ และเชื่อว่าในอนาคตการสื่อสารยิ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ด้วยเช่นกัน

กิจกรรมในวันสื่อสารแห่งชาติจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกๆ ปี ดังนี้ 1. พิธีถวายเครื่องสักการะเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช 2. พิธีกล่าวคำปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย 3. การจัดทำดวงตราไปรษณียากรเพื่อเป็นที่ระลึกวันสื่อสารแห่งชาติ 2566 4. การจัดนิทรรศการ เพื่อมอบข้อมูล ความรู้ และรายละเอียดต่างๆ

ที่มา: บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)