ราชกิจจาฯ ประกาศกำหนดเขต วัดปรินายกวรวิหาร เป็นพื้นที่โบราณสถาน

06 ส.ค. 2566 | 10:15 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 10:48 น.

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากรกำหนดให้เขตที่ดิน "วัดปรินายกวรวิหาร" เป็นพื้นที่โบราณสถานกลางกรุง

6 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมศิลปากร เรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน โดยระบุ ตามที่กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดปรินายกวรวิหาร ถนนวัดปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 

ดังปรากฏ ตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2492 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 64 เล่ม 66 หน้า 5281 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 แต่มิได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

 

กรมศิลปากร จึงประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน วัดปรินายกวรวิหาร ถนนวัดปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ให้มีพื้นที่โบราณสถาน 4 ไร่ 19 ตารางวา รายละเอียดดังปรากฏตามแผนผังแนบท้ายประกาศนี้

 

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน

ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566  นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

ประวัติความเป็นมาของ "วัดปรินายกวรวิหาร"

ศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านศาสนา ระบุว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดนี้เป็นวัดขนาดย่อมที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เสนาบดีคู่พระทัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์ปุโรหิต ในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าพระยาบดินทร์เดชานั้น ได้ชื่อว่า เป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

เมื่อใดที่ท่านมีโอกาสที่จะได้บำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านมักจะหาทางสร้างวัด หรือ ทำนุบำรุงวัดอยู่เสมอ ๆ และเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชายังดำรงค์ยศเป็น พระพรหมสุรินทร์ นั้น ท่านได้ไปสร้างวัดเล็ก ๆ ไว้ใกล้ๆ กับป้อมมหากาฬ แล้วตั้งชื่อวัดว่า วัดพรหมสุรินทร์ ตามบรรดาศักดิ์ของท่านในครานั้น

ครั้นท่านเจ้าพระยาฯ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพระยาบดินทร์เดชาแล้ว ท่านจึงได้ทำนุบำรุงวัดให้กว้างขวางขึ้น งดงามขึ้น แต่ก่อนที่วัดจะกว้างขวางสวยงามตามเจตนารมย์ ท่านก็มาสิ้นชีพลงเสียก่อน

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ ยกให้เป็นอารามหลวงแล้ว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดปรินายกวรวิหาร" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงปรินายกของพระองค์เอง (ขุนพลคู่บารมีกษัตริย์)

คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ กำหนดให้เขตที่ดิน "วัดปรินายกวรวิหาร" เป็นพื้นที่โบราณสถาน