12 ส.ค. ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันแม่แห่งชาติ" เช่นเดียวกับปีนี้ โดยสัญลักษณ์ของวันแม่ที่คุ้นเคยกันดีก็คือ "ดอกมะลิ"
ทั้งนี้ เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าที่มาที่ไปของการใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่มาจากที่ไหน
จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับ "ดอกมะลิ" และ "วันแม่แห่งชาติ" พบว่า
ดอกมะลิวันแม่
ดอกมะลิ (ภาษาอังกฤษ : Jasmine) หรือดอกมะลิซ้อน ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ดอกไม้วันแม่ เนื่องจากดอกมีลักษณะสีขาว กลิ่นหอมคงทน สื่อถึงความรักอันบริสุทธิ์ที่ยืนยาว เปรียบเสมือนความรักของแม่ที่มอบให้ลูกเสมอ ไม่เสื่อมคลาย
คนไทยถือเป็นดอกไม้มงคล นิยมเอาดอกมะลิมาร้อยเป็นมาลัยเพื่อบูชาพระ และดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูก อีกทั้งมะลิดอกแห้งก็ยังสามารถใช้ปรุงเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ดอกมะลิ ยังสามารถนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยซึ่งถือเป็นวัฒนะรรมเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยได้ โดยใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ความผูกพันธ์ระหว่างแม่ - ลูกอีกด้วย แต่หากเป็นดอกมะลิซ้อนก็สามารถนำไปแจกันประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามได้
อย่างไรก็ดี ยังว่ากันว่าหากนำน้ำที่ลอยดอกมะลิมาล้างหน้าจะช่วยทำให้ตาสว่าง หรือหากนำไปผสมอาหารก็จะช่วยให้มีกลิ่นหอม อีกทั้ง มะลิ ก็ยังเป็นส่วนผสมสำหรับแต่งกลิ่น หรือใช้อบกลิ่นขนมให้หอม ใช้อบผ้า และแต่งกลิ่นใบชา
รวมถึงดอกมะลิยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ใช้ปรุงแต่งเครื่องประทินผิว และเครื่องสำอางค์
ประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนโดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม เป็น วันแม่แห่งชาติ และ กำหนดให้ "ดอกมะลิ" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
"ดอกมะลิ" จึงกลายสัญลักษณ์หนึ่งที่มาพร้อมกับเทศกาล "วันแม่" ซึ่งเป็นวันที่บรรดาลูกให้ความสำคัญกับผู้ที่ให้กำเนิดเป็นพิเศษ