นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบัน TK Park มีเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้รวม 35 แห่ง ใน 25 จังหวัด รวมทั้งจับมือกับภาคีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในระดับอบจ., เทศบาล ฯลฯ จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ระดับชุมชนอีกกว่า 300 แห่ง และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการสนับสนุนสื่อการเรียนรู้
อาทิ การสนับสนุนสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ให้กับห้องสมุดพร้อมปัญญา กรมราชทัณฑ์ และห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีทั่วประเทศ ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น รวมทั้งในปีนี้ยังลงทุนเพิ่มในด้านนวัตกรรมระบบโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูล Big Data ของ TK Park ทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และบูรณาการให้สมาชิกสามารถใช้บริการได้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน
“ในปีนี้ TK Park ปรับองค์กรและการบริการพื้นที่เรียนรู้ใหม่ สู่ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” โดยเน้นเชื่อมโยงทุกช่องทางทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ทำให้ TK Park เป็นมากกว่าผู้ให้บริการห้องสมุดมีชีวิต แต่จะเป็นผู้ให้บริการการเรียนรู้ที่พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียนรู้ และยังนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ และเสริมทักษะได้แบบรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถวัดผลความสำเร็จได้จากจำนวนผู้เข้าใช้บริการทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความพึงพอใจจากผู้เข้าใช้บริการด้วย”
โดยกลยุทธ์ของ TK Park ในปีนี้ จะเดินหน้าขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพิ่ม โดยล่าสุดร่วมกับทรู ดิจิทัลพาร์ค เปิด TK Park สาขาทรู ดิจิทัลพาร์ค เวสต์ ขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้น
เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัยได้เข้ามาใช้บริการ ด้วยการขยายพื้นที่การเรียนรู้สู่ชุมชน รวมทั้งผ่านช่องทางการสื่อสารในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้แก่ ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้พร้อมที่จะทดลองเปิดให้บริการเพื่อเป็นต้นแบบแล้ว 1 แห่ง ณ สยามสแควร์
“ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ ใจกลางมือแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบ ที่เราจะใช้ศึกษาถึงพฤติกรรมผู้ยืมและ การบริหารจัดการว่าเป็นอย่างไร โดยเบื้องต้นจะมีหนังสือให้ยืมประมาณ 300 เล่มต่อตู้และมีการเติมหนังสือทุกวันขึ้นอยู่กับปริมาณการยืมว่าจะมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันหนังสือจะมีความหลากหลายปรับเปลี่ยนไปตามจุดหรือย่านที่ตั้ง
เช่น หนังสือเรียน หนังสือสำหรับวัยรุ่น หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการวัดผลราว 6 เดือน ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น และขยายไปตั้งในจุดต่างๆ รวมทั้งการหาพันธมิตร เครือข่ายเพิ่ม เพราะการตั้งตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง”
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า TK Park ยังร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายการเรียนรู้กว่า 30 องค์กร จัดงาน “Learning Fest Bangkok 2023” หรือ เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “Wonderlearn สงสัยให้สุด เป็นมนุษย์ไม่หยุดเอ๊ะ” ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายนนี้ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่สนับสนุนให้ผู้คนทุกช่วงวัยในสังคมได้มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้
และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อผลักดันให้ “กรุงเทพมหานคร” เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities-GNLC) ซึ่งในวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เนื่องในวันสากลแห่งการเรียนรู้ จะมีการประกาศรายชื่อเครือข่ายใหม่ด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งสิ้น 7 เมือง ได้แก่ เชียงราย ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา หาดใหญ่ สุโขทัย พะเยา และเชียงใหม่ และ TK Park เชื่อว่าการผลักดันให้เกิด “Learning Fest Bangkok 2023” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มด้านนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของภาคีของเราในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยจะพัฒนาแนวทางการสร้างสรรค์เทศกาลการเรียนรู้นี้ร่วมกับเมือง อื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคนและชุมชนที่เป็นรูปธรรมในที่สุด รวมถึงสะท้อนถึงความทุ่มเทของเมืองในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยใคร่รู้ และความปรารถนาในการเรียนรู้ไม่หยุดนิ่งสู่ผู้คนด้วย ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆมากมาย และจัดขึ้นตามเครือข่ายต่างๆ อาทิ ชุมชนบ้านครัว, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ,วิทยาลัยเพาะช่าง, กาลิเลโอเอซิส เป็นต้น
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,917 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566