“ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมไทยจดจ่อและจับจ้องว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ภายหลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ และเตรียมจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในนจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ภายในคำแถลงนโยบาย มีการระบุถึงเรื่องการเกณฑ์ทหาร และ การเรียน รด. กำหนดเอาไว้ด้วย
ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมความคืบหน้าของประเด็นร้อน ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรียน รด. ตามนโยบายรัฐบาล มีรายละเอียดที่สามารถสรุปได้ดังนี้
นโยบาย ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ของรัฐบาล
ภายใต้คำแถลงนโยบายรัฐบาล ของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 โดยระบุถึงแนวทางการ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรียน รด. ว่า รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน ดังนี้
- จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
- ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์
- ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบัน และอนาคตของประเทศ
- ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข้มแข็งด้านสังคมของประเทศ
ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นแบบสมัครใจ เริ่มเมื่อไหร่
ความชัดเจนของนโยบายที่ผ่านมา การยกเลิกเกณฑ์ทหาร โดยเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2567
อายุเท่าไหร่ ต้องเกณฑ์ทหาร
ผู้ที่อยู่ในกำหนดเรียกเกณฑ์ทหาร ต้องไปแสดงตนเข้ารับการตรวจเลือกตามหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)ประกอบด้วย
- ชายสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ หรือ ชายสัญชาติไทย เกิดปี 2546
- ชายสัญชาติไทย เกิดปี 2538-2545 ซึ่งมีอายุ 22-29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือผู้ที่มีผลการตรวจเลือกฯ ยังไม่แล้วเสร็จทุกกรณี
ทั้งนี้ผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร หรือไม่ไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ตามกำหนดในหมายเรียก หรือไปแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก หรือไม่อยู่จนการตรวจเลือกเสร็จ ถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมายต่อไป
ผู้มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร
บุคคลที่จะได้รับการผ่อนผัน มีหน้าที่ต้องไปแสดงตนต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวัน ตรวจเลือกฯ ตามที่กำหนดไว้ในหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร หากไม่ไปแสดงตนเข้ารับการ ตรวจเลือกฯ ตามหมายเรียกฯ จะถือว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษตามกฎหมาย โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับการผ่อนผัน มีดังนี้
- นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อได้รับอนุมัติให้ผ่อนผันฯ จากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ไม่ต้องไปแสดงตนในวันตรวจเลือกฯ จนกว่าจะหมดเหตุผ่อนผันฯ
- บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดา ซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการ ทุพพลภาพ หรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
- บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตร ซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการ ทุพพลภาพ และบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่ หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ซึ่งบิดามารดาตาย เมื่อพี่หรือน้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
- บุคคลที่อยู่ระหว่างการศึกษาหรือเรียนรู้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา กรณีของการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ, การศึกษา นอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ, การศึกษาตามอัธยาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และการศึกษาเฉพาะทางตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
บุคคลนอกเหนือจากนี้ ต้องร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอท้องที่ก่อนวันตรวจเลือกฯ ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้นายอำเภอทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อถึงวันตรวจเลือกฯ ผู้ร้องต้องร้องขอต่อคณะกรรมการตรวจเลือกอีกครั้งหนึ่ง จึงจะได้รับสิทธิ์ผ่อนผัน
เงินเดือนทหารเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์
สิทธิประโยชน์ของทหารกองประจำการ หรือ "เงินเดือนทหารเกณฑ์" ที่จะได้รับภายหลังผ่านการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการมีดังนี้
- ได้รับเงินเดือนรวมกับเบี้ยเลี้ยงประจำ หากจำนวนไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท จะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เมื่อรวมกับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง ประจำแล้ว จะได้รับไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท
- ได้รับเครื่องแต่งกายและของใช้ส่วนตัว
- ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- จัดให้มีการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ได้รับการฝึกและส่งเสริมวิชาชีพก่อนปลดออกจากกองประจำการ
- สามารถเลื่อนกำหนดเวลาปลดจากกองประจำการ โดยสมัครเข้ารับราชการต่อได้ จนถึงอายุไม่เกิน 25 ปี