thansettakij
14 จังหวัดอีสาน-ใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม  

14 จังหวัดอีสาน-ใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม  

24 ก.ย. 2566 | 03:55 น.

กอนช. แจ้งเตือนประชาชนใน 14 จังหวัดอีสานและใต้ เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในช่วงวันที่ 25 – 30 กันยายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 กันยายน 2566 โดยประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 20/2566 ลงวันที่ 21 กันยายน 2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง ในช่วงวันที่ 25 – 30 กันยายน 2566

ทั้งนี้ กอนช.ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พบว่า มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้ 

พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม 

ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด

  • ระยอง 
  • จันทบุรี
  • ตราด 

ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด

  • ชุมพร 
  • ระนอง 
  • พังงา
  • ภูเก็ต
  • กระบี่ 
  • สุราษฎร์ธานี 
  • สตูล 
  • ตรัง 
  • พัทลุง 
  • สงขลา
  • นครศรีธรรมราช 

พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 จังหวัด 

  • ริมแม่น้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก
  • แม่น้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา 
  • ลำน้ำก่ำ จ.นครพนม 
  • ลำเซบาย จ.ยโสธร 
  • แม่น้ำลำปาว อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ 
  • ลำน้ำยัง อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 
  • แม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี
  • แม่น้ำตรัง จ.ตรัง
  • แม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี 

สำหรับการเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล
  • อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง
  • อ่างเก็บน้ำน้ำพุง
  • อ่างเก็บน้ำน้ำอูน และหนองหาร
  • อ่างเก็บน้ำลำปาว
  • อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ 

นอกจากนี้กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำ D10 และประตูระบายน้ำหนองผือ ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2564 – 2570 ระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กับ กระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ฯ  จัดขึ้นเพื่อแสดงเจตจำนงของทั้งสองหน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 โดยจะได้ร่วมกันการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในสถานศึกษาทุกระดับชั้น ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

รวมถึงส่งเสริมให้หน่วยงานและบุคลากรทางการศึกษาเข้ามามีบทบาทในการจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ประชาชน ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีความเข้มแข็งต่อไป