วันที่ 24 กันยายน 2566 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ต่อปรากฏการณ์ เอลนิโญ (El Nino) เป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้เกิดภาวะความแห้งแล้งในประเทศไทย เพราะความแห้งแล้งอาจทำให้เกิดไฟป่า ทำลายระบบนิเวศ การเตรียมการป้องกันและบรรเทาปัญหาจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมการรับมือถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีฝนตกในทุกภูมิภาคแต่ก็ยังไม่สามารถเติมน้ำให้กับเขื่อนเพื่อเป็นทุนสำรองในการรับมือปรากฏการณ์เอลนิโญได้
นายไชยากล่าวว่า ในฐานะที่ตนดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับรายงานจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงสั่งให้เร่งเติมน้ำให้กับเขื่อนหลักหลายแห่งใน 5 ภูมิภาค เนื่องจากมีปริมาณกักเก็บน้ำไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุอ่าง ซึ่งบางแห่ง มีปริมาณน้ำไม่ถึงร้อยละ 30-40 เปอร์เซนต์ของปริมาณความจุอ่าง ซึ่งอาจทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอให้ประชาชนได้ใช้ ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีน้ำไม่ถึงร้อยละ 40 ซึ่งหากเกิดฝนทิ้งช่วงก็จะส่งผลกระทบต่อเขื่อนรองลงมา ที่จะไม่สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรและพี่น้องประชาชนมีน้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภคที่เพียงพอ
“ขณะนี้ได้ สั่งการให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีด้านปฏิบัติการ เร่งจัดทำฝนหลวงทันที ตามแผนจะเริ่มในวันที่ 25 กันยายน 2566 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะทำการประชุมวางแผนเพื่อทำฝนหลวงร่วมกับทีมฝนหลวงซึ่งมีอยู่จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ จากเครื่องบนที่สามารถใช้การได้จำนวน 19 ลำ ที่คาดว่าจะสามารถทำให้ฝนตกบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ภายใน 3-4 วันนี้ จากนั้นก็จะทำการทยอยเติมน้ำในรูปแบบโฟกัสแบบอิ่มตัวด้วยศาสตร์พระราชา”
นายไชยา กล่าวต่อว่า เหตุผลของการทำฝนหลวงคือการเติมเต็มเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ เพราะแม้ว่าขณะนี้จะมีฝนตก แต่น้ำฝนก็ไม่ได้ตกเข้าไปในเขื่อนจึงทำให้น้ำต้นทุนเหลือน้อย อีกทั้งในอนาคตเมื่อเริ่มหมดฤดูฝน ก้อนเมฆบนฟ้าก็จะไม่มีพลังงาน ไม่มีความชื่นเพียงพอ จะเป็นเรื่องยากที่จะทำฝนเทียม การทำฝนหลวงได้นำสูตรของศาสตร์พระราชามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก่อนที่จะหมดฤดูฝนนี้
ซึ่งแนวทางนั้น ในจุดที่มีการปฏิบัติการทีมฝนหลวงจะขึ้นบินโปรยสารเคมี เพื่อทำให้ก้อนเมฆเกิดพลังงาน ให้มีการก่อตัวยกตัวขึ้นก่อน จากนั้นทีมฝนหลวงก็จะทำการโจมตีก้อนเมฆด้วยสารเคมีและทำให้เกิดฝนตกลงมาตรงเป้าหมายได้ ทั้งนี้ภายหลังจากปฏิบัติการที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เรียบร้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็จะดำเนินการทำฝนต่อเนื่อง เพื่อเติมเขื่อนสำคัญๆให้ครบ 31 เขื่อน ตามแผนของกรมชลประทาน ในทุกภูมิภาค โดยก่อนการทำฝนหลวงจะคำนึงถึงความปลอดภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำและความจำเป็นตามแผนเติมน้ำของกรมชลประทานต่อไป