ล้วงลึก "คอมมานโดกองปราบ" เบื้องหลังงานใหญ่ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก

25 ก.ย. 2566 | 05:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2566 | 05:18 น.

ล้วงลึกภารกิจ "คอมมานโดกองปราบ" เบื้องหลังงานใหญ่ค้นบ้าน "บิ๊กโจ๊ก"เหตุพบความเชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ เรียกได้ว่าเขย่าวงการสีกากีอย่างหนัก

นาทีที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท.นำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านพัก "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. และบ้านที่ซื้อไว้ให้ลูกน้องพักรวม 5 หลัง ที่หมู่บ้านในซอยวิภาวดี 60 หลังออกหมายจับทีมงานรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกือบ 30 คน ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ เรื่องนี้สร้างความสนใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก มีการตั้งข้อสงสัย พร้อมทั้งติดแฮชแท็ก #บิ๊กโจ๊ก จนพุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ (X) ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทีมของ "บิ๊กโจ๊ก" พยายามกวาดล้างการพนันออนไลน์มาโดยตลอด 

ล้วงลึก \"คอมมานโดกองปราบ\" เบื้องหลังงานใหญ่ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก

"ค้นได้ยังไง ออกหมายค้น ผมไม่ให้ค้น กลับไปเลย" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ปฏิเสธการเข้าตรวจค้น

ล้วงลึก \"คอมมานโดกองปราบ\" เบื้องหลังงานใหญ่ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก

เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเพราะเกิดขึ้นท่ามกลางห้วงเวลาสำคัญการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่  ซึ่ง "บิ๊กโจ๊ก" ถูกจับตามองว่าเป็นผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 14 เพราะเหลืออายุราชการมากที่สุด โดยจะเกษียณในปี 2574  และถือว่าอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้เข้าชิงตำแหน่ง

ล้วงลึก \"คอมมานโดกองปราบ\" เบื้องหลังงานใหญ่ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก

แม้เบื้องต้นยังไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบ "บิ๊กโจ๊ก" เเละจะมีการประชุมพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ในวันที่ 27 กันยายนนี้ 

ปฎิบัติการสะเทือนวงการสีกากีครั้งนี้ นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช. สอท.ซึ่งได้ร่วมเข้าเจรจาขอตรวจค้น แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ได้สนธิกำลัง "ชุดคอมมานโดกองปราบ" จำนวนหนึ่ง ซึ่งสแตนบายพร้อมติดอาวุธครบมือ ด้วยท่าทีแข็งขัน ราวกับว่าพร้อมจะกระโจนเข้าระงับเหตุทันที หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา เพราะภารกิจของหน่วยดังกล่าวครอบคลุมการจับกุมคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกมาก ซึ่งก็เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ 

ล้วงลึก \"คอมมานโดกองปราบ\" เบื้องหลังงานใหญ่ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก

ตำรวจหน่วยคอมมานโด กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ บก.ปพ. / SSD หรือ "หน่วยสยบริปูสะท้าน" เดิม  ปัจจุบันมี "พล.ต.ต.ศุภากรณ์ จันทาบุตร" ถูกวางตัวให้เป็นผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ อยู่ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  

"พล.ต.ต.ศุภากรณ์ จันทาบุตร"

ซึ่งมี "บิ๊กก้อง" พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช เป็น ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ตำรวจไฟแรงสะสางคดีดังมาอย่างโชกโชน และผู้ริเริ่มแนวคิด ตั้งชื่อหรือนามเรียกขานหน่วยปฏิบัติการพิเศษให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว "หนุมานกองปราบ" ซึ่งมีผลงานคดีใหญ่ๆ เช่น เหตุอุจฉกรรจ์สะเทือนขวัญในพื้นที่ จ.ลพบุรี คนร้ายเป็นชายบุกเข้าชิงทองในร้านทองชื่อดัง

ภารกิจของ "คอมมานโดกองปราบ" คือ การปราบปรามการจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับกุมคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง หรือมีพรรคพวกมาก ตลอดจนความไม่สงบ โดยมีตำรวจเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือการร้องขอจากตำรวจท้องที่ สามารถปฏิบัติการได้ทันที ทำงานร่วมกับ ศูนย์วิทยุ และรถสายตรวจเคลื่อนที่เร็ว ผ่านตำรวจที่มีความสามารถในการต่อสู้ป้องกันตัวสูง มีความสามารถในการปราบปรามทั่วประเทศ

หากถามถึงประวัติเเละความเป็นมาของ "กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ" ต้องย้อนไปเมื่อช่วงปี  2499 พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้คัดเลือกกำลังตำรวจจากทั่วประเทศ เพื่อฝึกอบรมการปฏิบัติการพิเศษ สำหรับภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อย และมอบหมายให้ประจำการที่กองปราบสามยอด ที่ตั้งของกองปราบปรามในยุคนั้น

ปี 2508 ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่โชคชัย 4 และจัดหน่วยเข้าไปอยู่ภายใน แผนก 5 กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ต่อมา ปี 2514 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม (กก.ปพ.บก.ป.) มีชื่อเรียกที่มาจากหลักสูตรการฝึกว่า "สยบริปูสะท้าน" เพื่อให้ตำรวจสามารถปฎิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ และมีทักษะพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ซึ่งหลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรที่สำคัญของหน่วย ซึ่งมีการประดับคำนี้เหนือคำว่า COMMANDO ที่เหนืออาร์มของกองปราบปรามบนแขนจนกลายเป็นชื่อเรียกของหน่วย

ภาพจาก เพจ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ - Commando ผู้สำเร็จหลักสูตร "สยบริปูสะท้าน รุ่นที่ 3"  หน่วยคอมมานโด  .

ปี 2561 กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ถูกยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมี "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" แคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 14 เป็นผู้บังคับการคนแรกของหน่วย 

ปี 2562 ราชกิจจานุเบกษาประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยเป็น กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904  โดยมี พล.ต.ต.สยาม บุญสม เป็นผู้บังคับการคนแรก

ปี 2563 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม อีกครั้งเป็น "กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ" เพื่อสอดรับกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นมาเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย โดยมี พล.ต.ต.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บังคับการคนแรก

โครงสร้าง กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ

  • กองกำกับการ 1-6 
  • กองกำกับการต่อต้านก่อการร้าย 
  • กองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ
  • กองกำกับการสายตรวจ
  • กองกำกับการอำนวยการ