"ศธ. จับมือ กสศ." สยบดราม่าเกาเหลา ลุย ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

20 ต.ค. 2566 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2566 | 15:16 น.

กสศ. หารือการทำงานร่วมกับ รมว.ศธ. จับมือสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาคร่วมกัน ให้ผู้เรียนเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้คือการสร้างโอกาสสร้างทางเลือกที่เหมาะสม ผ่านความร่วมมือโครงการต่างๆ ของ กสศ. และศธ.

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) และคณะผู้บริหารระดับสูงของศธ. ได้ ร่วมหารือและประสานการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และคณะเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน

\"ศธ. จับมือ กสศ.\" สยบดราม่าเกาเหลา ลุย ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

ผู้จัดการ กสศ. ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปีการศึกษา 2566 และผลการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนในสังกัด สพฐ. สอศ. และ สช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ครัวเรือนมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้สามารถศึกษาต่อทั้งในและนอกระบบการศึกษาจนเต็มศักยภาพเพื่อเป็นกำลังคนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ.

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ.ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 สังกัดดูแลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในระบบการศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคน และพัฒนาการค้นหาและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งช่วยให้เด็กกลุ่มเป้าหมายกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนภายใต้เครือข่ายข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนการผลิตพัฒนาครูให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารมากกว่า 1,500 แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมการระดมความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน และการเสนอโครงการเพื่อออกสลากการกุศล เป็นต้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ทั้งนี้ ภายหลังจากการรับฟังข้อมูล พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ศธ. และ กสศ. ให้ร่วมกันบูรณาการทรัพยากรเพื่อสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกัน เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายในสถานศึกษาสังกัด ศธ. โดยเฉพาะเยาวชนจากครัวเรือนยากจนที่ต้องการศึกษาต่อสายอาชีพในสังกัด สอศ. ทั้งหลักสูตร ปวช. ปวส. และหลักสูตรระยะสั้นที่เน้นจบการศึกษาในเวลาสั้น 

\"ศธ. จับมือ กสศ.\" สยบดราม่าเกาเหลา ลุย ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

เพราะเห็นร่วมกันว่าเป็นรูปแบบการเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความยากจนพิเศษเรียนเพื่อมีงานทำได้ และหาแนวทางสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อให้เยาวชนได้เข้าเรียนสายอาชีพให้มากขึ้นตามความต้องการของตลาดแรงงาน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า  ครูเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคุณภาพทางการศึกษา จำเป็นที่จะต้องหามาตรการและแนวทางต่างๆ มาพัฒนาคุณภาพครู เช่น การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือครู ช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านการดูแลนักเรียน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

โดยกรณีนี้ ดร.ไกรยส ได้รายงานเพิ่มเติมว่า กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการฐานข้อมูลความเสี่ยงของนักเรียน จัดทำ Data Catalogue แนวทางและกระบวนการ ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างครอบคลุมทุกมิติปัญหา ผ่านระบบ OBEC Care ให้สอดคล้องกับแนวทางการดูแลช่วยเหลือเด็กตามความต้องการเป็นรายบุคคล 

ซึ่งได้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่องแล้วใน 28 เขตพื้นที่การศึกษา ในปีการศึกษา 2566 มีสถานศึกษา 1,050 แห่งทั่วประเทศ โดย สพฐ และ กสศ มีแผนจะขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หรือ ระบบ OBEC Care ให้ครอบคลุม 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศในปีการศึกษา 2567

\"ศธ. จับมือ กสศ.\" สยบดราม่าเกาเหลา ลุย ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน จึงได้มอบหมายให้ สพฐ. สรุปตัวเลขจำนวนครูที่ใช้ระบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานส่วนนี้เพื่อนำมาออกแบบ วางแผนและวางแนวทางการขยายผลเพิ่มเติมจากพพื้นที่นำร่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกันหารือประเด็นอื่นๆ เช่น แนวทางการสร้างระบบแนะแนวของโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะต้องมีครูแนะแนวที่ดีแล้ว ควรนำระบบรุ่นพี่มาช่วยแนะแนวและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและการทำงาน การผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น พิจารณานำโครงการคุรุทายาทที่เคยทำมาแล้ว 13 รุ่น เพื่อให้มีรุ่นพี่คุรุทายาทช่วยสนับสนุนการทำงานต่อในโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายหรือโรงเรียนปลายทาง ซึ่งอาจรวมเป็นโครงการเดียวกัน โดยควรหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน ศธ. เพื่อทำงานร่วมกัน โดยมีข้อเสนอให้ใช้ชื่อคุรุทายาทเพื่อให้ครอบคลุมการผลิตครูในระบบปิด

\"ศธ. จับมือ กสศ.\" สยบดราม่าเกาเหลา ลุย ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

ที่ยังประชุมยังได้หารือด้านการแก้ปัญหาต่างๆ ของโรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะการเดินทาง โดยเสนอให้ทดลองนำร่องการจัดการขนส่งให้นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Stand Alone) เพื่อให้เด็กมีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนคุณภาพ โดยสร้างแรงจูงใจในการทำงานของระบบขนส่งให้เพียงพอ เช่น เพิ่มเติมงบประมาณด้านการเดินทาง ฯลฯ