วันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานโครงการท่องเที่ยวศูนย์เรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ครั้งที่ 8 “สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ต่อการพัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหาร“ ประจำปี 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
โดยมี ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และผู้มีเกียรติร่วมพิธี ในบรรยากาศทุ่งดอกไม้ที่เนรมิตรพื้นที่ 100 ไร่ ณ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร(100 ไร่) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตำบลไชยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
นายสุวัจน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดโครงการท่องเที่ยวเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เพื่อความสุขขึ้นเป็นปีที่ 8 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์อบรมและวิจัยทางการเกษตร 100 ไร่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ดําเนินการต่อเนื่องมาถึง 8 ปี และการดําเนินการนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เพราะเป็นเรื่องของงานทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมืองแล้วใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมวิจัยของด้านการเกษตร
ฉะนั้น นอกจากจะได้เป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการแล้ว ยังได้ประโยชน์ในเรื่องของการท่องเที่ยว ถือว่า เป็น Destination การท่องเที่ยวอีสาน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประกาศรับรอง เพราะการจัดงานแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเป็นจํานวนมากทั้งคนโคราช และจังหวัดอื่น
การท่องเที่ยววันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญ ฉะนั้น การที่เราได้มีการพัฒนาทางด้านวิชาการด้วย และเป็นเรื่องของการต่อยอดทางวิชาการให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์
นายสุวัจน์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลให้ความสําคัญในเรื่องของการต่อยอดในเรื่องของ soft power เพราะจะเป็นประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว เป็นประโยชน์ทางด้านในเรื่องของอุตสาหกรรม ในเรื่องเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจุดแข็ง ในเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เรียกว่า soft power อาทิเรามีภาษาโคราช, อาหารโคราช, ผ้าไหมโคราช, เพลงโคราช และ มวยไทยโคราช เป็นจังหวัดเดียวที่เป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ที่ชัดเจน สามารถที่จะนํามาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเรื่องทางเศรษฐกิจในเรื่องของอุตสาหกรรม
ถ้าสถาบันมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะใช้สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ใหญ่มาก ก็สามารถจะต่อยอดในเรื่องของ soft power ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งตนได้เห็นการพัฒนาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของเนื้อแพะ ที่จะมาเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
จากเดิมที่มีเนื้อโคราชวากิว ที่มีชื่อเสียงแล้ว ต่อไปอาจจะเป็นเนื้อแพะโคราช ที่จะมีชื่อเสียง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นอีกอาหารหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมาโคราชต้องอยากมาชิมเนื้อแพะโคราช สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และตรงกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งมหาลัยราชภัฏนครราชสีมา
นอกจากงานวิชาการ ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่น และสถานที่อย่างนี้ ก็เป็นแบบอย่างหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย เพราะว่าเป็นสถานที่ที่เราต้องการให้ท่านผู้มาเยือนได้รู้ถึงการใช้ชีวิตที่จะอยู่กับธรรมชาติ ให้มีความสุข
“วันนี้ เป็นเทรนด์ของโลกในเรื่องโลกร้อน ในเรื่องกรีน (Green) ในเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ในเรื่องความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ ฉะนั้น สถานที่แห่งนี้สามารถที่จะเป็นภาพลักษณ์ เป็นตัวแทนของวิชั่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ต่อการพัฒนาประเทศ ในสภาวะสถานการณ์ในปัจจุบัน ต้องขอบคุณท่านผู้บริหารทุกท่าน ที่ได้จัดงานอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาความเติบโตขึ้นทุกปีก็ขอให้การจัดงานได้ประสบความสำเร็จ” นายสุวัจน์ กล่าว
โครงการ “งานเกษตร 100 ไร่ ราชภัฏโคราช 66” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2566 – วันที่ 7 มกราคม 2567 ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดทำแปลงไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นักท่องเที่ยวจะได้รับชมสวนผักตามฤดูกาล โซนเห็ดเศรษฐกิจ สนุกสนานกับโซน มหัศจรรย์แพะแกะ Goat and Sheep Land และ มหกรรมแพะอีสาน ชิมผลิตภัณฑ์จากแพะ และการจัดตู้ปลาสวยงาม