กรมพินิจฯ มอบเด็ก 14 มือกราดยิงสยามพารากอน รักษาป่วยจิตเวชต่อจนกว่าจะหาย

01 ม.ค. 2567 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2567 | 05:28 น.

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ส่งเด็ก 14 มือกราดยิงสยามพารากอน รักษาตัวจากอาการป่วยจิตเวชต่อจนกว่าจะหาย หวั่นปล่อยตัวไปจะอันตรายต่อสังคม ตำรวจยันหากผู้ต้องหาพ้นสภาพผู้ป่วยและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ก็จะนำตัวส่งพนักงานอัยการ เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

 

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยวันนี้ (1 ม.ค.) ถึงความคืบหน้ากรณีการปล่อยตัว เด็กชายวัย 14 ปี มือกราดยิงปืนที่ห้างสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 จนมีผู้เสียชีวิต หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการไม่ทันตามกำหนดเป็นเหตุให้หมดอำนาจควบคุมตัวเพื่อรับการรักษา และมีการสอบปากคำที่สถาบันกัลยาณราชนครินทร์ ตั้งแต่เมื่อเที่ยงคืนที่ผ่านมาว่า

กระบวนการของอัยการได้หมดหน้าที่นับตั้งแต่ที่คืนสำนวนคดีให้แก่ตำรวจ ส่วนเรื่องการรักษาตัวเด็กชายผู้ก่อเหตุที่สถานพยาบาลแห่งนี้ต่อไปนั้น ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะสหวิชาชีพผู้ร่วมรักษาเด็ก ระบุว่า แพทย์ได้ลงความเห็นว่าเด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม และต้องหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช แพทย์จึงยืนยันว่าจะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย เนื่องจากการรับการรักษาต่อนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครองเอง

เหตุเกิดที่ห้างสยามพารากอนวันที่ 3 ต.ค.2566

นายประยุทธ ยืนยันว่า ในวันนี้(1 ม.ค.) มีการประชุมหารือระหว่างผู้ปกครองเด็ก เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ แพทย์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทราบผลสรุปภายในวันนี้ หากเด็กไม่เจ็บป่วยก็ต้องปล่อยตัวไป แต่เมื่อชัดเจนว่าป่วยก็ต้องรักษาตัวต่อ

ต่อมาเวลา 11.00 น.รถเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ แพทย์และผู้ปกครอง ได้ทยอยขับรถออกจากโซนอาคารรักษาตัวของผู้ป่วยซึ่งปิดกั้นไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป โดยไม่มีผู้ใดให้ข้อมูล

ด้านนางสาวศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวเด็ก จึงมาแจ้งสถาบันกัลยาณฯ และส่งมอบให้ผู้ปกครองลงนามรับตัวเด็ก ก่อนจะหารือเรื่องการรักษาตัวต่อภายในสถาบันฯ โดยผู้ปกครองยินยอมให้สถาบันฯ รักษาตัวต่อไป โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง แต่ไม่สามารถระบุกรอบเวลาการรักษาตัวได้ จากนี้ถือว่าหมดอำนาจการควบคุมของกรมพินิจฯ แล้ว

หายป่วยจิตเวชและสู้คดีได้เมื่อไหร่ ตำรวจพร้อมดำเนินคดีต่อ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 งานโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้คืนสำนวนกราดยิงพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากพนักงานสอบสวน ส่งสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ก่อน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 มาตรา 134 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ถือเป็นการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กโดยมิชอบ จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป โดยเมื่อผู้ต้องหาอยู่ในสภาวะหายป่วยเป็นปกติและสามารถต่อสู้คดีได้ ให้สอบสวนให้เสร็จสิ้น แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาภายในอายุความ 20 ปี

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ให้คำอธิบายชี้แจง ว่า

1.คดีนี้ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ ผู้ต้องหาเป็นเยาวชนอายุสิบห้าปี ใช้อาวุธปืนบีบีกันดัดแปลง ยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่เลือกหน้า ภายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ไปจำนวน 42 นัด ยังเหลือกระสุนอีก 8 นัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 4 ราย มีทรัพย์สินของผู้ประกอบการร้านค้าเสียหาย  ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าระงับเหตุและควบคุมตัวมาดำเนินคดี

2.ทางการสืบสวนผู้ต้องหาเป็นนักเรียนม.2 ของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ไม่เคยถูกพักหรือหยุดเรียน มีความรู้ ความเข้าใจ เพราะสามารถสั่งซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง เคยเข้าสนามยิงปืนและหัดยิงปืนกับผู้ปกครอง 3 ครั้ง ต่อมาสามารถวางแผนเข้าไปยิงปืนในสนามยิงปืนได้ ทั้งที่อายุไม่ถึงเกณฑ์  ถือได้ว่า มีความรู้เรื่องอาวุธและมีทักษะในการยิงปืนเป็นอย่างดี

กรมพินิจฯ มอบเด็ก 14 มือกราดยิงสยามพารากอน รักษาป่วยจิตเวชต่อจนกว่าจะหาย

3.วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ได้ส่งตัวเยาวชนไปไต่สวนการจับที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง ระหว่างสอบสวนได้ผัดฟ้องและฝากขัง โดยลำดับ ภายหลังทราบว่า สถานพินิจฯ ได้ส่งเยาวชนไปสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจสภาวะทางจิตของผู้ต้องหา

4.วันที่ 27 ตุลาคม 2566 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มีหนังสือให้พนักงานสอบสวนเข้าสอบปากคำเยาวชนได้ เพราะจิตแพทย์เจ้าของไข้รับรอง พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำเยาวชนเป็นผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 โดยดำเนินการตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มีอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ ที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) บิดา ร่วมสอบสวนด้วย

5.ระหว่างสอบสวนผู้ต้องหาสามารถรู้และเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยผู้ต้องหาสามารถให้การได้ว่า สั่งซื้ออาวุธและเครื่องกระสุนอย่างไร มีเพื่อนสนิทเป็นใคร ฝึกซ้อมยิงปืนกี่ครั้ง   ที่ใดบ้างและคำถามอื่นๆ เพียงแต่ไม่ให้การถึงเหตุการณ์ที่ตนก่อขึ้นเท่านั้น ระหว่างสอบสวนทั้งพนักงานสอบสวนและผู้เข้าร่วมสอบสวนทุกฝ่าย ไม่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 อันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงได้ร่วมลงชื่อในบันทึกปากคำและบันทึกวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน

6.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 สถาบันกัลป์ยาณ์ราชนครินทร์ รายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี พบว่า ผู้ต้องหามีความสามารถในการรับรู้กาล เวลา สถานที่ บุคคลและสิ่งต่างๆ รอบตัว ความสามารถในการรับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากคดี แต่ไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้ของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง จึงสรุปผลประเมินว่า ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

7.วันที่ 21 ธันวาคม 2566 เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ลำพังการปฏิเสธไม่รับรู้และให้การเรื่องราวที่ตนก่อขึ้น ยังไม่ถึงขั้นจะเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนเชื่อและเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นบุคคลวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงสรุปสำนวนการสอบสวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาเสนอพนักงานอัยการ

8.อย่างไรก็ตาม แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 วรรคแรกและวรรคสอง จะให้อำนาจพนักงานสอบสวนหรือศาลเท่านั้น มีดุลพินิจที่จะเชื่อหรือเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน มีความเห็นแตกต่างและคืนสำนวนการสอบสวนมา พนักงานสอบสวนก็น้อมรับปฏิบัติและจะได้ติดตามผลจากจิตแพทย์อย่างใกล้ชิด ทันทีที่ได้รับรายงานว่า ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้คดีได้ จะนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีภายในกำหนดความ 20 ปี ต่อไป