ถอดบทเรียน รางร่วง-ล้อหลุด "รถไฟฟ้าโมโนเรล" ไม่ปลอดภัย

04 ม.ค. 2567 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2567 | 06:36 น.

"สามารถ" เปิด 3 สาเหตุรางร่วง-ล้อหลุด "รถไฟฟ้าโมโนเรล" ไม่ปลอดภัย ยันรถไฟฟ้าเกิดเหตุได้ทุกประเภท แนะผู้โดยสารศึกษาข้อมูล หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า จากเหตุการณ์รางจ่ายกระแสไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีชมพูร่วง และล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลในการใช้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโมโนเรลปลอดภัยหรือไม่ สู้รถไฟฟ้ารางหนักได้หรือไม่

 

 1. เพราะเป็นโมโนเรลจึงเกิดอุบัติเหตุ จริงหรือไม่ ตอบว่าไม่จริง อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับรถไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก รถไฟฟ้ารางเบา หรือโมโนเรลก็ตาม

 

 หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2548 ได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้า MRT ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย กล่าวคือรถไฟฟ้าขบวนที่มีผู้โดยสารจอดรับส่งผู้โดยสารอยู่ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถูกรถขบวนที่ไม่มีผู้โดยสารไหลลงมาชนจากบริเวณโรงจอดและซ่อมบำรุง เป็นการเกิดอุบัติเหตุหลังจากเปิดใช้รถไฟฟ้าสายนี้เป็นเวลา 6 เดือนครึ่ง โดยรถไฟฟ้าสายนี้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2547

 

อุบัติเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วงลงมาก็เกิดขึ้นหลังจากเปิดให้บริการในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยเกิดขึ้นหลังจากเปิดใช้ 6 เดือน กล่าวคือเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 และเกิดอุบัติเหตุล้อหลุดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567

 

ส่วนอุบัติเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีขมพูร่วงลงมานั้น ไม่ได้เกิดจากข้อบกพร่องของโมโนเรล แต่เกิดจากผู้รับเหมาปรับผิวจราจรบนถนนด้านล่างถอนเหล็กเข็มพืด (Sheet Pile) ทำให้ Sheet Pile ไปโดนรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดและร่วงลงมาบางส่วน

 

จากอุบัติเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่าอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้กับรถไฟฟ้าทุกประเภท

2. ล้อหลุดเกิดจากอะไร

 

 ล้อหลุดเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก ประกอบด้วย (1) คนหรือผู้เดินรถ (2) สภาพอากาศ และ (3) ข้อบกพร่องทางเทคนิค

 

 กรณีผู้เดินรถ หากมีการปฏิบัติตามคู่มือการเดินรถ มีการตรวจสภาพรถ ตรวจรางและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดก็ไม่น่ามีสาเหตุจากผู้เดินรถ ที่สำคัญ ทราบว่าล้อประคองมีอายุการใช้งานถึง 3 แสนกิโลเมตร แต่ขณะที่เกิดเหตุเพิ่งใช้มาแค่ 6 หมื่นกิโลเมตร คิดเป็นเพียงแค่ 20% ของอายุการใช้งานเท่านั้น

 

  สภาพอากาศก็ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเมืองอื่นที่มีอากาศร้อนดังเช่นกรุงเทพฯ ก็ใช้โมโนเรลเหมือนกัน

 

 ข้อบกพร่องทางเทคนิค เป็นปัจจัยที่ควรให้ความสนใจ ดังนั้น จะต้องรอผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการว่าการผลิตล้อมีข้อบกพร่องอะไร หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ การที่กระทรวงคมนาคมสั่งให้ผู้เดินรถงดใช้ล้อที่ผลิตในคราวเดียวกันถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้ว

3. ล้อหลุดอันตรายมากหรือไม่

 

 อันตรายจากล้อหลุดผมไม่เป็นห่วงผู้โดยสารบนขบวนรถมากนัก เพราะล้อหลุด 1 ล้อ จากทั้งหมด 48 ล้อใน 1 ขบวน ศูนย์ควบคุมการเดินรถสามารถนำรถเข้าจอดที่สถานีที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ด้วยความปลอดภัย

 

แต่ผมเป็นห่วงคนที่อยู่ด้านล่างมากกว่า เนื่องจากล้อมีน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม หากหล่นทับคนที่อยู่ด้านล่างจากความสูงประมาณ 20 เมตร จะทำให้อันตรายมาก ด้วยเหตุนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

 

4. ถ้าโมโนเรลเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารต้องทำอย่างไร

 

  ในกรณีฉุกเฉิน ผู้โดยสารจะต้องลงจากโมโนเรลไปที่ทางเดินระหว่างรางทั้งสอง (รางขาไปและขากลับ) ทางเดินเป็นตะแกรงเหล็กกัลวาไนซ์เพื่อให้ผู้โดยสารเดินไปสู่สถานีที่ใกล้ที่สุด ความสูงจากพื้นโมโนเรลถึงทางเดินเกือบ 2 เมตร ดังนั้น จะต้องลงทางบันไดที่พาดจากประตูโมโนเรลไปที่ทางเดิน บันไดดังกล่าวจะถูกเก็บไว้บนรถและบนทางเดินตลอดทาง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์จะต้องช่วยกันอุ้มลงมาที่ทางเดินแล้วเข็นไปที่สถานี

ถอดบทเรียน รางร่วง-ล้อหลุด \"รถไฟฟ้าโมโนเรล\" ไม่ปลอดภัย

5. สรุปและเสนอแนะ

 

 โมโนเรลเป็นรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย เช่น รถไฟฟ้าประเภทอื่น ผู้โดยสารไม่ต้องวิตกกังวล แต่ควรศึกษาหาความรู้ในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งในขบวนรถก็มีการให้ข้อมูลผ่านจอมอนิเตอร์อยู่แล้ว หรืออาจจะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ได้ ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารได้รับรู้ข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าทุกประเภทด้วย