เกร็ดความรู้ “วันวาเลนไทน์” ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก

14 ก.พ. 2567 | 02:52 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 02:53 น.

ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน หยิบยกเกร็ดความรู้ “วันวาเลนไทน์” กับทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรักของ Robert Sternberg แนะนำไปปรับใช้ให้รักษาความรักมั่นคง

14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก มีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หลายคนนิยมมอบของขวัญให้กับคนรัก เช่น ดอกกุหลาบ หรือช็อกโกแลต บางคนเลือกไปดินเนอร์ หรือดูหนังกับคนรัก โดยวัตถุประสงค์ของการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์นั้น ก็เพื่อแสดงความรักและความห่วงใยที่มีต่อกัน

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แนะนำเกร็ดความรู้ "วันวาเลนไทน์" จากทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก โดยระบุว่า นักบุญวาเลนไทน์คือผู้ปกป้องคุ้มครองความรัก Robert Sternberg คือ คนที่ให้ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก

ทฤษฎีนี้บอกว่าความรักมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

  • ความใกล้ชิด(Intimacy) เป็นความเชื่อมโยงทางอารมณ์และความใกล้ชิด
  • ความเสน่หา(Passion) เป็นความดึงดูดทางร่างกายและความปรารถนา
  • ความผูกมัด (Commitment) เป็นการตัดสินใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ไว้

Sternberg อธิบายว่าความรักของแต่ละคู่นั้น จะประกอบด้วย 3 ส่วนนี้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ความรักที่มีระดับของความใกล้ชิดสูงและความเสน่หาสูง เรียกว่ารักแบบนี้ว่า ความรักโรแมนติก เป็นต้น ความรักที่ผสมด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ก็จะเป็นความรักคนละแบบไม่เหมือนกัน

ความรักของแต่ละคู่จึงต้องจัดส่วนผสมของ 3 องค์ประกอบนี้ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและเวลาของบริบทความสัมพันธ์ของคู่ตน เพื่อรักษาความรักของตนให้คงอยู่ปลอดภัยและมีความสุข ด้วยทฤษฎีนี้ ความรักของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ เพราะธรรมชาติของแต่ละคนต่างกัน นั่นหมายความว่าความสำเร็จของความรักของคู่หนึ่งไม่สามารถเป็นแบบแผนให้เป็นความสำเร็จของอีกคู่หนึ่งที่จะลอกตามได้

"แน่นอนสำหรับ Sternberg คนที่ไม่มีองค์ประกอบของความรักทั้งสามประการนี้เลย ถือว่าเป็นคนที่ไม่มีความรัก ลองประเมินตัวเองได้ว่าเรามีความรักหรือไม่ เมื่อความรักลอกเลียนแบบกันไม่ได้ จึงทำให้นักบุญวาเลนไทน์มีความสำคัญกับคนจำนวนมาก ด้วยความเชื่อว่าท่านจะมอบความรักให้กับเรา"

ศ.ดร.กนก แนะนำให้นำทฤษฎีของ Sternberg ไปรักษาความรักนั้นให้มั่นคง ด้วยการค้นหาส่วนผสมของ ความใกล้ชิด(Intimacy), ความเสน่หา(Passion), และความผูกมัด(Commitment) ที่เหมาะสมกับตนเองและคู่รัก เเละต้องไม่ลืมว่า ความรักเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของบริบทในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นต้องปรับสูตรส่วนผสมของความรักให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและเวลา