วันสตรีสากล 2567 ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม สำคัญอย่างไร

08 มี.ค. 2567 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2567 | 04:06 น.

วันสตรีสากล 2567 ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม ประวัติ และ ความเป็นมา มีความสำคัญอย่างไร ตรวจสอบรายละเอียดคลิกอ่านรายละเอียดด่วน

วันสตรีสากล 2567    ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม  วันสตรีสากล ภาษาอังกฤษ คือ  International Women's Day  วันสตรีสากลตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาวันสตรีสากล

วันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

 อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

 

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล

ความสำคัญวันสตรีสากล

วันสตรีสากล บรรดาผู้หญิงในหลาย ๆ ประเทศจากทุกทวีป รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง จะรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลองวันสำคัญนี้ และร่วมรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ประเทศเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล จึงได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดประจำชาติ และวันสตรีสากลก็ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่องค์การสหประชาชาติจะได้ร่วมเฉลิมฉลองอีกด้วย

สีประจำวันสตรีสากล

สีม่วง สีเขียว และ สีขาว คือ สีประจำวันสตรีสากล

สีม่วง มีความหมายถึง ความยุติธรรม และความมีเกียรติ

สีเขียว  เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง

สีขาว  เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ถึงแม้จะเป็นแนวคิดที่มีการถกเถียงเป็นวงกว้างก็ตาม

 

วันสตรีสากล 2567
สีเหล่านี้มาจากสหภาพสังคมและการเมืองสตรี (Women's Social and Political Union หรือ WSPU) ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1908.

ที่มา: ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ห้องสมุดศาลยุติธรรม