วันนี้ (28 มี.ค.67) กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำโดย นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายวิษณุ นุ่นทอง กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และนายจีรพงษ์ นายประเสริฐพลกรัง เลขาธิการและโฆษกสมาคมฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติแต่งตั้ง เพื่อนำประเด็นการกล่าวหาและพาดพิงล่าสุดเข้าไปพิจารณาในการสอบเพิ่มเติม
นายจีรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้มายื่น 2 เรื่องเกี่ยวกับกรณีนักข่าวรับเงินแหล่งข่าว และ ตามที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เปิดเผย ข้อมูลว่ามีองค์กรสื่อ นักข่าวบางรายและอุปนายก ที่ใช้อักษรย่อ ว. เกี่ยวข้องกับเส้นทางเงิน ซึ่งเป็นการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเพิ่มเติม
เพราะเป็นกรณีสืบเนื่องจากที่ช่วงปลายปีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และต่อมามีการแถลงข่าวพาดพิงว่า มีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวจำนวนหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ที่มีนายวิเชียร ชุบไธงสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในการสอบสวนอยู่แล้ว แต่กระบวนสอบข้อเท็จจริงในครั้งนั้นยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ จึงขอให้คณะกรรมการสอบสวนนำเรื่องใหม่นี่ไปตรวจสอบเพิ่มเติม
นายจีรพงษ์ เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายษิทราแล้วในเบื้องต้น โดยนายษิทรา ได้ยืนยันข้อมูลที่ออกสื่อเป็นไปตามที่เปิดเผย ส่วน อุปนายก ว. ไม่ใช่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน และขอให้สมาคมฯ ดำเนินการตรวจสอบกันเอง เพื่อความสบายใจและโปร่งใส กรรมการบริหารสมาคมฯจึงมีมติให้นำเรื่องมายื่นให้คณะกรรมการฯ ที่ตรวจสอบกรณีนักข่าวรับเงินแหล่งข่าวอยู่แล้ว รับไปตรวจสอบเพิ่ม และหลังจากนี้สมาคมนักข่าวจะไม่มีการแถลงตอบโต้ใดใด จะให้เป็นกระบวนการของการสอบสวนซึ่งสมาคมนักข่าวฯพร้อมให้ความร่วมมือ
ด้านนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับความไว้วางใจจาก 3 องค์กรสื่อ แต่งตั้งให้เป็นประธานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ กระบวนการสอบจะครบจากพยานทุกปากแล้ว
ส่วนกรณีรับเรื่องร้องเรียนในวันนี้ได้รับไว้เพื่อทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทำการวิเคราะห์เสนอแนะ หรือมีบทลงโทษตามจริยธรรมของสื่อมวลชนต่อไป โดยผลการตรวจสอบจะเปิดเผยพร้อมกันกับกรณีแรกซึ่งกรณีล่าสุดเชื่อว่าไม่มีพยานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากเหมือนกรณีแรก ซึ่งเดิมสภาการสื่อมวลชนกำหนดกรอบไว้ 180 วัน แต่กรรมการฯตั้งใจจะสอบให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งใกล้จะครบ แล้วเมื่อมีเรื่องใหม่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะเร่งให้เสร็จ ซึ่งต้องขยายเวลาการสอบไปประมาณ 1 เดือน รวม 120 วัน และจะเปิดเผยผลการตรวจสอบให้ทราบต่อไป
ส่วนการแถลงข่าวของทนายความ นายกสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การทำหน้าที่ของทนายความทุกคนต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ หากเป็นการหมิ่นหรือผิดข้อบังคับก็มีช่องทางที่จะนำเข้าสู่กระบวนการร้องเป็นคดีมรรยาทได้ ทั้งนี้นายกสภาทนายความไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีมรรยาท แต่อำนาจจะอยู่ในส่วนของประธานคณะกรรมการพิจารณาคดีมารยาท เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการแล้วหากคดีมีมูลก็จะรับไว้พิจารณาแต่งตั้งกรรมการทำการสอบสวนและพิจารณาลงโทษต่อไป
“ฝากไปถึงสื่อมวลชนว่าในกรณีการแถลงข่าวหรือร่วมแถลงข่าวข้อมูลบางอย่างที่สื่อมวลชนได้รับจากทนายบางคนหากมินเหม่ว่ามีความผิดเมื่อถูกฟ้องก็จะฟ้องมายังสื่อมวลชนก่อนจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งสภาทนายความและสภาการสื่อมวลชนเคยมีการให้ความรู้ในเรื่องนี้แล้วเชื่อว่าหลายสื่อมีความเข้าใจ การรับฟังการแถลงข่าวของใครบางคนและไปเสนอข่าวสื่อที่นำข่าวไปลงต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ส่วนการแถลงข่าวของทนายต้องมีเหตุผลเพียงพอและต้องไม่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของมรรยาททนายความ”
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง