จากสภาพอากาศในพื้นที่ของประเทศที่จะเข้าสู่ในช่วงเดือน เมษายน ได้ร้อนระอุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปกติประมาณ 800 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะมีปริมาณการใช้ไฟสูงขึ้นจากปกติไปถึงเดือนพฤษภาคม 2567
นายอารมณ์ สิงห์เงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 6 จังหวัด ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,130 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีการใช้สูงกว่าวันปกติ และคาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือนเมษายน 2567 จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1,190 เมกกะวัตต์
ทั้งนี้ พบว่าจังหวัดลพบุรี เป็นจังหวัดที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 325.8 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มจังหวัดดังกล่าว เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก และวัสดุก่อสร้าง
เช่น กลุ่มบริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินิแบไทย จำกัด บริษัทอินโดรามา โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทเฌอร่า จำกัด (มหาชน) และบริษัท เหล็กทรัพย์ จำกัด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีปริมาณการใช้ไฟโดยเฉลี่ย 135.6 เมกะวัตต์ และใช้กระแสไฟฟ้าในระบบ 115 กิโลโวลท์เป็นหลัก
ขณะที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 290 เมกะวัตต์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นหัวเมืองใหญ่ แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ เช่นห้างสรรพสินค้า เป็นหลัก
ส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 211.8 เมกะวัตต์
จังหวัดชัยนาท มีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 127.5 เมกะวัตต์
จังหวัดสิงห์บุรีมีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 101.8 เมกะวัตต์ และ จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดในกลุ่มจังหวัดเพียง 74.9 เมกะวัตต์
จากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนมีการใช้ไฟสูงขึ้นในทุกๆปี โดยเฉพาะการเปิดเครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น ในบ้านเรือนประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้สถิติการใช้ไฟฟ้าช่วงหน้าร้อนเพิ่มขึ้นมากขึ้นด้วย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปรับอุณหภูมิในห้องให้มีความเย็นในระดับเหมาะสม รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวได้มีการตรวจสอบโหลดหม้อแปลงไฟฟ้าของสถานีไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งระบบ 22 กิโลโวลท์ และระบบ 115 กิโลโวลท์ รวม 40 สถานี รวมขนาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังรวม 2,865 MVA ยังสามารถรองรับปริมาณการเพิ่มของการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอในช่วงดังกล่าว
พร้อมทั้งได้ให้พนักงานศูนย์ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าทุกแห่ง ตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในทุกๆวัน รวมทั้งพนักงานแก้กระแสไฟฟ้าขัดข้องที่เตรียมพร้อมให้บริการหากเกิดกระแสไฟฟ้าดับในช่วงเกิดพายุฤดูร้อน เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าในช่วงนี้ของกลุ่มการใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มทั้งบ้านอยู่อาศัย พาณิชย์กรรมและอุตสาหกรรม มีความมั่นคงและประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยข้อมูลการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค)ครั้งแรกของปี 2576 สูงถึง 30,989.3 เมกะวัตต์ (22 ก.พ.เวลา 19.29 น.) ขณะที่สถิติสูงสุดในไทย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. พบการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 34,826.5 เมกะวัตต์
ในส่วน 6 จังหวัด ( ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) พบสถิติใช้ไฟสูงสุดช่วงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งสิ้น 969.92 เมกะวัตต์ น้อยกว่าปี 2566 (6 พ.ค.)ที่ใช้ไฟมากถึง 1169.55 เมกะวัตต์