มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีเสวนา “บทบาทและทิศทางของมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน : กองทุนมหิดลยั่งยืน” เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลก ทั้งในด้านการสร้างคน เทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการ สร้างนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กับ กองทุนมหิดลยั่งยืน (Mahidol University Endowment Fund)
โดยมี พลตำรวจเอก นายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล (ผู้ทรงคุณวุฒิ) รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลและ อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง ดำเนินการเสวนา
พร้อมนี้ ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการนโยบายด้าน Marketing Endowment Fund มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อมูล ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
กองทุนมหิดลยั่งยืน เป็นกองทุนกลางของหาวิทยาลัยมหิดลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรองระยะยาว เพื่อใช้ในการการดำเนินพันธกิจ และสนับสนุนการสร้างปัญญาแผ่นดิน ให้สามารถต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป เพื่อประโยชน์และ Positive Impact ในอนาคต
ทั้งนี้ การสร้างฐานการเงินที่มั่นคงเป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกได้ทำ โดยมีกองทุนแบบ Endowment Fund เป็นการระดมทุนที่เน้นความยั่งยืนในระยะยาว โดยเงินที่ได้รับจากการบริจาคจะนำไปบริหาร และนำเฉพาะผลตอบแทนไปใช้ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในขณะที่เงินต้นยังคงอยู่เป็นเงินสำรองที่จะนำไปลงทุนและบริหารให้งอกเงยต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการนโยบายด้าน Marketing Endowment Fund มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กองทุนมหิดลยั่งยืน มีความตั้งใจที่จะสร้างคนที่มีศักยภาพสูง ในสาขาที่ตอบความต้องการของประเทศและของโลก เช่น วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวโมเลกุล วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เป็นต้น
รวมถึง ให้ทุนนักวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทุนพัฒนาเครื่องมือวิจัยและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ตลอดจนการต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์เพื่อแก้ปัญหาและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีห้องปฏิบัติการด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
อีกทั้ง พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในสาขาการแพทย์ พืชพันธุ์ ธรณีวิทยา ดนตรี เพื่อให้ผู้คนและองค์กรเข้าถึงแหล่งความรู้ มีการจัดตั้ง AI Center/Maker space/Playground space พื้นที่แห่งการเรียนรู้ผ่านการลงมือสร้างสรรค์เพื่อทำให้ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจริง สำหรับนักศึกษา นักวิจัย และประชาชนทั่วไป เพื่อสนับสนุนการสร้างปัญญาและนวัตกรรม ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะธุรกิจในระยะเริ่มต้นให้พัฒนาเป็นธุรกิจได้จริง รวมถึง Startup ที่มีศักยภาพสูงให้เติบโตเป็นธุรกิจที่แข็งแรงและยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับในต่างประเทศจำเป็นต้องทำบริษัท Startup/ Spinoff และเมื่อสำเร็จบริษัทใหญ่ๆ นำผลงานต่างๆ ไปต่อยอด ทุกคนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยจะมีกี่คนที่มีโอกาสที่จะไปทำบริษัท Startup ที่เกิดขึ้นจากไอเดียตัวเอง สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ Feeder Fund เมื่อกองทุนมหิดลยั่งยืนเกิดขึ้น จะทำให้ Start Up โตขึ้นและสำเร็จได้ ต่อไปก็สามารถนำตัวเองกลับมาบริจาคให้มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีทรัพย์สินทางปัญญา มีองค์ความรู้ ยังสามารถที่จะเดินหน้าในเรื่อง Holding Company ที่เมื่อผลประกอบการมีกำไรก็สามารถนำกลับเข้ามาที่ Endowment อีกครั้งซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ยั่งยืนเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลไม่ได้รอเงินบริจาคเพียงอย่างเดียวแต่ยังมองหาคู่ความร่วมมืออันจะทำให้เราเติบโตขึ้นไปด้วย
“มหาวิทยาลัยหากไม่ทำอะไรต่อไปคงจะไม่มีคนเรียนแล้ว แต่หากมองว่าประเทศเปลี่ยนโลกเปลี่ยน Disruption กลับมา Input ของมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นบริษัท ผู้เกษียณอายุแล้ว คนที่ทำบริษัทแต่ต้องการ Business Model ต่อไปอาจจะมองมหาวิทยาลัยจะเป็นศูนย์บ่มเพาะ พี่เลี้ยง เป็น incubator เพื่อร่วมพัฒนาต่อไป”
พลตำรวจเอก นายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า Endowment Fund ต่างจากมูลนิธิและการรับบริจาคต่างๆ คือเป็นส่วนหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีเงื่อนเวลามาครอบคลุม การบริหารจัดการต้องประกอบด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และต้องมีมืออาชีพมาบริหารจัดการกองทุน โดยมีสมาคมศิษย์เก่าที่ทำหน้าที่ประสานเชื่อมระหว่างศิษย์เก่า กับทีมบริหาร และมืออาชีพที่บริหารจัดการกองทุนให้อยู่ต่อไปยาวนาน
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเข้าใจถึง Endowment Fund เพื่อช่วยกันสร้างระบบให้เกิดความยั่งยืน แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการบริจาคให้วัดหรือโรงพยาบาลที่เห็นผลเร็ว ผูกพันต่อจิตใจ แต่เรื่องการศึกษา ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าระบบการศึกษาไม่ดี คนไม่พัฒนา ประเทศชาติก็ไม่พัฒนาแล้วจะไปแข่งขันกับระดับนานาชาติได้อย่างไร
“ไม่ต้องเปลี่ยนจากวัดหรือโรงพยาบาล เพียงกันส่วนหนึ่งมาบริจาคให้ระบบการศึกษา Endowment Fund กองทุนเพื่อความยั่งยืน มีรูปแบบการบริจาคที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเงินสด การทำพินัยกรรม เบี้ยบำเน็จบำนาญ ประกันชีวิต หุ้นต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีโอกาสพัฒนา”
สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะบริจาคให้กองทุนแล้วให้มืออาชีพมาบริหารจัดการเพื่อนำดอกผลมาบริหารจัดการทุนการศึกษาคัดสรรเด็กอัจฉริยะ พัฒนาอาคารสถานที่ พัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และหลักสูตร หากทำได้ทั้ง 3 ส่วน มหาวิทยาลัยและประเทศจะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยผู้บริจาคไม่ต้องกังวลเรื่องเงินหรือทรัพย์สินจะสูญเพราะในข้อบังคับกำหนดชัดเจน
นอกจากนี้ ผู้บริจาคสามารถที่จะกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาที่จะมอบเงินต้นหรือทรัพย์สินเป็นในลักษณะของ Term Endowment และมหาวิทยาลัยนำดอกผลที่ได้ตลอดระยะเวลาไปใช้ โดย “กองทุนมหิดลยั่งยืน” มีทุนประเดิมกองทุน 100 ล้านบาท หลังมหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดข้อบังคับของมหาวิทยาลัยในเร็วๆ นี้ และยังจำเป็นต้องได้รับการบริจาคอีกมาก จึงขอเชิญชวนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษา และนวัตกรรมของประเทศชาติในทุกด้านอย่างยั่งยืนและถาวรกับ กองทุนมหิดลยั่งยืน Mahidol University Endowment Fund
โอกาสนี้ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล (ผู้ทรงคุณวุฒิ) กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเห็นความสำคัญทางการศึกษาทำให้กองทุนใหญ่และประสบความสำเร็จกับ Endowment Fund เป็นอย่างมาก ในประเทศไทย ที่ผ่านมาอาจจะเพราะมีการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้เรื่องกองทุนไม่เกิดขึ้น
แต่เมื่องบประมาณน้อยลง มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำเป็นต้องใช้เงินเข้าพัฒนารอบด้าน ถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้น แม้มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งจะเริ่มต้นกองทุนมหิดลยั่งยืน แต่ก็ไม่ช้าไป เพียงทุกคนช่วยกันทั้งบุคคล ภาคธุรกิจ และเอกชนช่วยกันสนับสนุนไม่ต้องถึง 100 ล้าน แต่เริ่มจาก 5 -10 ล้านบาท หากมีทุนตั้งต้นที่เยอะมากพอผลตอบแทนก็จะมากพอที่จะสนับสนุนด้านการศึกษาและอื่นๆ ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลในการขับเคลื่อนต่อไปและต้องเป็นตัวอย่างการเริ่มต้นกองทุนที่ดี
ดังนั้น การบริจาคให้ กองทุนมหิดลยั่งยืน ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของทุกคน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนกองทุนมหิดลยั่งยืน สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไป แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธรณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือกีฬา หรือรับสิทธิประโยชน์ทางด้านชื่อเสียงและการสร้างคุณูปการในสังคม และการเข้าถึงบริการวิชาการและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ในรูปแบบต่างๆ