ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการกากแคดเมียมของกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศูนย์วิจัยฯ กรอ.) พบว่า ผลการตรวจสอบตัวอย่างกากแคดเมียมที่เจอทุกจุด มีองค์ประกอบของธาตุทางเคมีตรงกันกับกากแร่จังหวัดตาก
โดยไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีและมีความชื้นเหลืออยู่เพียง 18% ส่วนแผนการขนย้ายกากฯ กลับสู่บ่อฝังกลบในจังหวัดตากอยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดตามความเห็นของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย รวดเร็ว ถูกหลักมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ จากกรณีที่มีการตรวจพบและเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดกากแคดเมียมที่บรรจุในถุง Big Bag ในพื้นที่ 5 จุด ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสาคร 3 จุด ชลบุรี 1 จุด และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 1 จุด นั้น จากรายงานผลการตรวจวัดองค์ประกอบของตัวอย่างกากแคดเมียมทั้ง 5 จุด ของศูนย์วิจัยฯ กรอ. ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์แบบ XRF หรือ X-Ray Fluorescence Spectrometer
การวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของธาตุ โดยการวัดปริมาณรังสีเอกซ์ที่ปลดปล่อยออกมาจากธาตุองค์ประกอบที่แตกต่างกันพบว่า กากแคดเมียมทั้งหมดไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีและกากแคกเมียมดังกล่าว มีคุณสมบัติต่างจากแคดเมียมปกติ (บริสุทธิ์ 100%) คือ เป็นกากตะกอนแร่ที่มีส่วนผสมของโลหะหลัก 3 ชนิด คือ แคดเมียม 30-48% สังกะสี 19-35% ทองแดง 11-20% และแคลเซียม 12-15%
ซึ่งปัจจุบันมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 18% สอดคล้องกับองค์ประกอบของกากตะกอนแร่ในจังหวัดตาก จึงสามารถยืนยันได้ว่ากากตะกอนแร่ที่ตรวจพบและทำการยึดอายัดทั้งหมดนั้น เป็นการขุดและขนส่งมาจากแหล่งเดียวกัน คือบ่อคอนกรีตฝังกลบในจังหวัดตาก
อย่างไรก็ตาม กากแคดเมียมเหล่านี้ได้รับการปรับสภาพความเป็นกรดด่าง ลดความเป็นพิษ และถูกผสมด้วยปูนซีเมนต์ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและการชะล้าง จึงมีความอันตรายและโอกาสการเข้าสู่ร่างกายที่ลดลง
อีกทั้งมีการจัดเก็บกากแคดเมียมดังกล่าวภายในถุง Big Bag โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดที่ตรวจพบกากตะกอนทั้ง 5 จุด ระหว่างรอการขนย้ายกลับไปฝังกลบอย่างปลอดภัยในจังหวัดตาก
ดร.ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แคดเมียม (Cadmium: Cd) เป็นโลหะหนักที่พบอยู่ในดิน ซึ่งกากแคดเมียมที่จังหวัดตาก ไม่พบสารกัมมันตรังสีที่จะแผ่รังสีก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนใหญ่พบร่วมกับแร่สังกะสีเพราะเป็นโลหะที่มีสมบัติทางธรณีเคมีคล้ายคลึงกัน จึงเป็นสายแร่ที่อยู่คู่กัน โดยทั่วไปแหล่งแร่สังกะสีจะมีแคดเมียมผสมอยู่ประมาณ 0.1-5%
สำหรับประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดตากเป็นแหล่งของสายแร่สังกะสี ทำให้มีแคดเมียมปนอยู่กับสังกะสีด้วยเช่นกัน โดยแคดเมียมถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่าง ๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี และผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ถ่านไฟฉาย เป็นต้น
ดังนั้น การทำเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่จังหวัดตาก นอกจากทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อย่างแร่สังกะสีแล้ว จะได้กากตะกอนแร่ที่มีส่วนประกอบของแร่อื่น ๆ เป็นผลพลอยได้มาด้วย
"ปัจจุบันพบกากแคดเมียมจากการประเมินล่าสุดแล้ว จำนวน 12,535 ตัน สำหรับแผนการขนย้ายกากแคดเมียมกลับสู่บ่อฝังกลบในจังหวัดตาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดตามความเห็นของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนการขนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย รวดเร็ว ถูกหลักมาตรฐานสากล"