"พิมพ์ภัทรา" ดึงดีเอสไอ-ปปง.-กระทรวงทรัพย์ฯ แก้ปมปัญหา "กากแคดเมียม"

18 เม.ย. 2567 | 04:31 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 04:47 น.

"พิมพ์ภัทรา" ดึงดีเอสไอ-ปปง.-กระทรวงทรัพย์ฯ แก้ปมปัญหา "กากแคดเมียม" ผุดคณะกรรมการเพิ่มอีกหนึ่งชุดทำหน้าที่คู่ขนาน สร้างการยอมรับจากคนภายนอก จากเดิมที่มีแต่ครนในกระทรวงทำงาน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาลัการลักลอบขน "กากแคดเมียม" ว่า ล่าสุด ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมด้วย เนื่องจากมีความชำนาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

โดยมองว่าหากตั้งเฉพาะแค่คนในกระทรวงอุตสาหกรรม การยอมรับของคนข้างนอกอาจจะมีคลางแคลงสงสัยได้ อีกส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่คู่ขนานคือคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไป มีหลายประเด็นค่อนข้างห่วงใยและตรงกับที่กำลังทำอยู่คือเรื่องของการขนย้าย วิธีการลดขนส่งรวมถึงสภาพจิตใจสุขอนามัยของพี่น้องประชาชนด้วย

ทั้งนี้คำสั่งการจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา เป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 6 กระทรวง ซึ่งในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาคณะทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมมีการเรียกบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) มารับภารกิจ ทั้งเรื่องการขนย้าย หรือกระบวนการที่ให้คำนึงถึงความปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนด

ซึ่งเวลานี้กำหนดวันแล้วเรื่องขนส่ง วิธีการขนส่ง วันขนส่ง โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ลงไปดูหน้างาน เพื่อดูความพร้อมรับกากแคดเมียมเข้าไปทำการฝังหรือไม่ ซึ่งวันนี้จะมีรายงานกลับมา

"พิมพ์ภัทรา" ดึงดีเอสไอ-ปปง.-กระทรวงทรัพย์ฯ แก้ปมปัญหา "กากแคดเมียม"

อย่างไรก็ดี จากคำสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องให้จัดการขนกากกลับไปและการตรวจสอบข้อเท็จจริงล่าสุดได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงไปดูหน้างานซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดฯได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

แต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่มีคำสั่งการล้วนแต่เป็นคนในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีหัวหน้าผู้ตรวจเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนจึงค่อนข้างกังวลเพราะ ประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก จึงได้ขอให้มีองค์ประกอบเพิ่มมากขึ้น จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งดังกล่าว 

"กระทรวงฯต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้เร็วที่สุดเดิมวันที่ 7 พฤษภาคม ก็พยายามทำให้ได้รวดเร็ว แต่ขั้นตอนการเตรียมการมีค่อนข้างมาก เช่น เรื่องของถุงที่จะต้องดูให้แข็งแรง ถ้าไม่แข็งแรงต้องซ้อนทับ เรื่องรถขนส่งจะต้องเป็นรถเฉพาะที่จะใช้ขนส่ง และเรื่องของเส้นทางจำนวนรถ วิธีการ ต้องทำให้ถูกต้องตามระบบความปลอดภัย จริงๆต้องการให้รวดเร็ว"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยและต้องเป็นไปตามกระบวนการ ปัจจุบันทำได้เร็วขึ้นคือการเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น นอกจากนี้หน้างานที่ จ.ตาก จะต้องมีความพร้อม โดยทางกพร. ได้ขอไปสำรวจแล้ว ทั้งหมดจะต้องมีแผนหากเกิดเหตุแผนสำรองจะเป็นอย่างไร ซึ่งเวลานี้ทุกฝ่ายช่วยกันเป็นอย่างดี