นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด “องค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน” ระหว่าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
พร้อมกันนี้ได้มอบธงนำร่องสถานประกอบกิจการผ่านเกณฑ์โรงงานสีขาว และการดำเนินงานมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) แก่นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ และผู้บริหารบริษัทในกลุ่มซีพีเอฟ โดยมีนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานและซีพีเอฟร่วมด้วย ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ที่รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาอย่างเข้มแข็ง และมั่นคง
กระทรวงแรงงานมุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และ เอกชน บูรณาการดำเนินแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการอย่างเป็นระบบ ตามหลักเกณฑ์โรงงานสีขาว
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เป็นหลักประกันว่าพนักงานของซีพีเอฟทุกคน ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย มีระบบและกลไกในการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร
เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่มีแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี ดูแลพนักงานทุกคนด้วยความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พนักงานทุกคนที่ทำงานในประเทศไทย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
“ขอชื่นชมซีพีเอฟที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ บรรลุเป้าหมายในการป้องกัน และหยุดยั้งปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน และยังมีการต่อยอดดูแลชุมชนที่อยู่รอบๆ หน่วยงานให้มีความเข้มแข็ง และห่างไกลจากยาเสพติดอย่างจริงจัง” นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายประสิทธิ์ กล่าวว่า พนักงานเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทฯ บรรลุวิสัยทัศน์การเป็นครัวของโลก ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง
การลงนามบันทึกความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด “ขับเคลื่อนองค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน” กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
เป็นการประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการต่อต้านยาเสพติด นำหลักเกณฑ์และแนวทางของโรงงานสีขาว และการดำเนินงานมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) นำมาปฏิบัติ ส่งเสริมแบบจริงจังอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาสถานประกอบการของซีพีเอฟกว่า 437 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นองค์กรที่ปลอดจากยาเสพติด ซึ่งครอบคลุมพนักงานทั้งคนไทย และพนักงานจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 70,000 คน
โดยการตั้งเป้าหมายภายในปีนี้ สถานประกอบกิจการทุกแห่งในประเทศไทย ได้รับการรับรองโรงงานสีขาวและมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ร่วมสร้างความยั่งยืนขององค์กร ชุมชนและประเทศต่อไป
“ซีพีเอฟมีความยินดีร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่ายพัฒนาสถานประกอบกิจการของบริษัทฯ ทุกแห่งทั่วประเทศเป็นต้นแบบองค์กรดูแลพนักงานทุกคน และชุมชนรอบข้างมีภูมิคุ้มกันห่างไกล สนับสนุนสังคมไทยมีความเข้มแข็ง และเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง
สอดคล้องกับหลักปรัชญาสามประโยชน์สู่ความยั่งยืนที่ผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นลำดับแรก ประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับที่สอง และประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย” นายประสิทธิ์ กล่าว