ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้ดำเนินการสนับสนุนแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้(Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
ทั้งนี้วช. ได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมมือกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 ณ จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้
นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจังหวัดเชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจังหวัดเชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ภายใต้การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกันแผ่นดินไหว เราไหวอยู่