วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เป็นวันฉัตรมงคล (Coronation Day) นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย เป็นวันสำคัญที่รำลึกถึงพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำหรับพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี
พระราชพิธีฉัตรมงคลนี้ได้เริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาลแต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด
ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล พระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ขึ้น
การสมโภชเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระราชทานนามว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล มีงาน 4 วัน ในเดือน 6 ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชพิธีนี้ยังคงทำในเดือนหก ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2417 จึงเปลี่ยนมาทำในเดือน 12 อันเป็นเดือนที่ได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช
ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ยังทรงพระเยาว์และยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก การพระราชพิธีจึงคงทำในนามพระราชพิธีรัชมงคล
ต่อมาเมื่อได้รับพระบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทยได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย
ต่อมาในรัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีถัดไปจึงถือให้วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล ทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้
ความสำคัญของวันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล ถือเป็นวันสำคัญที่เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้าจะต้องทำหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ ตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา รวมถึงจัดพิธีสวดมนต์ และเป็นเสมือนการระลึกถึงและเชิดชูพระเกียรติการครบรอบปีที่รับบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอีกด้วย
พระราชพิธีฉัตรมงคล
พระราชพิธีฉัตรมงคลจะมีการจัดสมโภชเครื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานจะต้องอัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นจะมีการอ่านประกาศพระพราชพิธี พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น
เครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์
1.พระมหาพิชัยมงกุฎ
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำหนัก 7.3 กิโลกรัม และได้ประดับเพชร "พระมหาวิเชียรมณี" ที่ยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์
2.พระแสงขรรค์ชัยศรี
อาวุธที่มีลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ มีคมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นสันนูนคล้ายคมหอก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนายังหมายถึงพระปัญญาที่แหลมคมอีกด้วย
3.ธารพระกร
ทำจากไม้ชัยพฤกษ์อันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงชัยชนะ
4.วาลวิชนี
พัดใบตาลปิดทองและแส้ขนจามรี ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย
5.ฉลองพระบาทเชิงงอน
รองเท้าที่พระมหาราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้สวมถวายทีละข้าง ซึ่งแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปทุกแห่งหนที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึง
ที่มา กรมประชาสัมพันธ์, หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี