วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2567
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้น ในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้น การทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย
การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ระหว่างช่วงเวลา 08.09 - 08.39 น. ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนา ประจำปี 2567 คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร
เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย และพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง โดยพระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี ส่วนพระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน
ในปีนี้ กรมการข้าวทำหน้าที่ในการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืช ซึ่งนำมาใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2566 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2567 ประกอบด้วย ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่
ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 903 กิโลกรัม, กข 43 จำนวน 300 กิโลกรัม, กข 81 จำนวน 200 กิโลกรัม, กข 85 จำนวน 200 กิโลกรัม, กข 87 จำนวน 300 กิโลกรัม และ กข 95 จำนวน 200 กิโลกรัม และพันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ กข 6 จำนวน 540 กิโลกรัม และสันป่าตอง 1 จำนวน 100 กิโลกรัม โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,743 กิโลกรัม และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตร
ในวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้พยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของประเทศ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งในปีนี้ หยิบได้ 5 คืบจากทั้งหมด 3 ผืน ทำนายว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน สำหรับการอุปโภคและบริโภคอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับผลเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พบว่า พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา
อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติและปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567 โดยในการนี้ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เบิกตัวผู้ได้รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณในประเภทต่าง ๆ มีรายชื่อ ดังนี้
เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 16 ราย คือ
1. อาชีพทำนา ได้แก่ นางทองเม็ด พรมพิทักษ์ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
2. อาชีพทำสวน ได้แก่ นายประดับ ปิ่นนาค อ.เมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์
3. อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสุริยา ห่วงถวิล อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี
4. อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางอัญชัน สุขจันทร์ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
5. อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นายพินิจ แก้วพิมาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
6. อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสัมฤทธิ์ อินทร์เฉลียว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
7. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม
8. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณัฏฐชัย นาคเกษม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
9. อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา
10. อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช
11. สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางอวยพร ราชเล็ก อ.กงหรา จ.พัทลุง
12. สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสนิท ดำบรรณ์ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
13. สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายแล โพธิ์วัด อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
14. สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี
15. ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นายนพธิไกร จอมภาปิน อ.ลอง จ.แพร่
16. สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 12 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร อ.สูงเม่น จ.แพร่
2. กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบ้านคำข่า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
3. กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไทย เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
4. กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่
5. กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
6. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
7. กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) อ.ลอง จ.แพร่
8. กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามัคคีพันธุ์ข้าว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
9. สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
10. ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน อ.เถิน จ.ลำปาง
11. ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท
12. วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ
1. สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เชียงใหม่ - ลำพูน จำกัด อ.หางดง จ.เชียงใหม่
2. สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี
3. สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด อ.เอราวัณ จ.เลย
4. สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
5. สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขลำพูน จำกัด อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
6. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภาอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
7. สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำกัด อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567 จำนวน 3 สาขา คือ
1. สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายวินิจ ถิตย์ผาด อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
2. สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายพิบูลย์ชัย ชวนชื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
3. สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอัษฏางค์ สีหาราช อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
ของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น โดยแต่ละอย่างมีความหมาย คือ
ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด
ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา
ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า
ถ้าพระโคกิน เหล้า