วันนี้ (11 พ.ค.67) แฟจเพจของ "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" เปิดเผยว่า ดวงอาทิตย์วันนี้ จุดบนดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ AR3664 ต้นกำเนิดพายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
โดยเนื้อหาเต็ม ระบุว่า ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 10:48 น. ตามเวลาประเทศไทย แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ AR3664 บริเวณซีกใต้ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 15 เท่า รวมถึงจุดขนาดเล็กอีกหลายจุด บริเวณซีกเหนือของดวงอาทิตย์
AR3664 ไม่ใช่จุดบนดวงอาทิตย์ทั่ว ๆ ไป แต่เป็นจุดที่เกิดขึ้นบนผิวของดวงอาทิตย์และขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กลายเป็นหนึ่งในจุดที่ใหญ่ที่สุดและเต็มไปด้วยกิจกรรมมากที่สุดที่เห็นในวัฏจักรของดวงอาทิตย์รอบนี้ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ให้ความสนใจอย่างมาก แต่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) เริ่มสังเกตเห็นว่าบริเวณจุด AR3664 เกิดการลุกจ้า (Solar Flare) และมีการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (CMEs) ออกมา ซึ่งคาดว่าจะมีการปะทุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ และในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 NOAA ได้แจ้งเตือนถึงการตรวจพบพายุสุริยะที่มีความรุนแรงระดับ G4 ต่อมาได้ยกระดับพายุขึ้นเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่สูงที่สุดตามข่าวนั่นเอง
การวัดระดับความรุนแรงของพายุสุริยะในที่นี้เรียกว่า G-scale แบ่งออกเป็น G1, G2, G3, G4 และ G5 โดยไล่ระดับความรุนแรงน้อยที่สุดจาก G1 ไปจนถึง G5 ซึ่งรุนแรงมากที่สุด ครั้งสุดท้ายที่มีการแจ้งเตือนพายุสุริยะระดับ G5 นั้นเกิดขึ้นในช่วงวันฮาโลวีนของปี 2003 จึงทำให้นี่เป็นพายุสุริยะที่มีระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี
ความรุนแรงระดับ G5 นี้อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียม และกริดจ่ายไฟฟ้าในประเทศแถบขั้วโลก แต่ไม่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์ ในขณะเดียวกันจะสามารถพบเห็นแสงออโรราได้เป็นบริเวณกว้างกว่าปกติ จากที่จะสังเกตเห็นได้ในแถบขั้วโลกหรือบริเวณประเทศในแถบละติจูดสูง ๆ ครั้งนี้ประเทศที่อยู่ถัดลงมาก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นกันมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย แทบไม่ได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร จึงถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี และเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถสังเกตเห็นแสงออโรราได้
---