ซ้ำซาก! ไฟไหม้โรงงาน อุบัติเหตุ หรือ วางเพลิง? “ดร.สามารถ”แนะวิธีแก้ปัญหา

13 พ.ค. 2567 | 04:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 04:30 น.

“ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์”เรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาวางมาตรการกำกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้มงวดกวดขันเจ้าของโรงงาน ให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ขาดตกบกพร่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานซ้ำซาก

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ในหัวข้อ “ซ้ำซาก! ไฟไหม้โรงงาน อุบัติเหตุ หรือ วางเพลิง?” ระว่า 

ช่วงนี้มีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานเก็บสารเคมีเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ทำให้หลายคนติดใจสงสัยว่า เกิดจากอุบัติเหตุ หรือจงใจวางเพลิงกันแน่? 

1. การเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย

อันที่จริง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางการเก็บสารเคมีที่ปลอดภัยให้เจ้าของโรงงานยึดถือปฏิบัติ แต่ทำไมไฟไหม้โรงงานสารเคมีจึงไม่เลิกรา เป็นเพราะว่าความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ หรือการละเลยของเจ้าของโรงงาน?

หากเจ้าของโรงงานปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ผมมั่นใจว่าไฟไหม้โรงงานสารเคมีจะลดน้อยลง คำแนะนำดังกล่าวครอบคลุมถึงทำเลที่ตั้งโรงงาน อาคารเก็บสารเคมี และวิธีการเก็บสารเคมี โดยคำนึงถึง พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และหลักวิชาการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

(1) ทำเลที่ตั้งโรงงาน

ทำเลที่ตั้งที่ดีจะต้องห่างไกลจากแหล่งชุมชนหนาแน่น ห่างไกลจากแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะ ห่างไกลจากพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง และมีเส้นทางคมนาคมขนส่งสะดวก ปลอดภัยในการขนส่งสารเคมี เป็นต้น

(2) อาคารเก็บสารเคมี

อาคารจะต้องมั่นคงแข็งแรง มีระบบระบายอากาศที่ดี มีทางออกฉุกเฉิน สามารถเก็บรักษาสารเคมีได้อย่างปลอดภัยและเป็นสัดส่วน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะต้องเหมาะสมกับสารเคมีที่จะกักเก็บ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการลุกลามของไฟ อาคารเก็บสารเคมีแต่ละหลังจะต้องอยู่ห่างกันเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ลุกลาม และอาคารจะต้องติดตั้งสายล่อฟ้า เป็นต้น

(3) วิธีการเก็บสารเคมี

วิธีเก็บสารเคมีที่ถูกต้องจะต้องแยกเก็บสารเคมีตามประเภท สารเคมีต่างประเภทจะต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน ห้ามเก็บสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ไว้ด้วยกัน และจะต้องแยกเก็บสารเคมีที่ระเบิดได้ออกจากสารเคมีอื่นทุกประเภท เป็นต้น

หากเจ้าของโรงงานปฏิบัติตามแนวทางการจัดเก็บสารเคมีอย่างเคร่งครัดดังกล่าวข้างต้น โอกาสที่จะเกิดไฟไหม้โรงงานก็แทบจะไม่มี 

2. ทำไมจึงเกิดไฟไหม้โรงงาน?

ทั้งๆ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำแนะนำการเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย โดยคำนึงถึงกฎหมายและหลักวิชาการ แต่เหตุที่ยังเกิดไฟไหม้อยู่อีก อาจเป็นเพราะความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และ/หรือ ความดื้อรั้นของเจ้าของโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในกรณีที่เจ้าของโรงงานดื้อรั้น แต่หากเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไฟไหม้ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยลง

การเกิดไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง หากเขาเหล่านั้นได้รับพิษจากสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทางปาก ทางผิวหนัง และ/หรือ ทางการหายใจ

3. สรุป

โดยสรุป จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจัง หมั่นตรวจสอบโรงงานอยู่เป็นประจำ ใครทำผิดสั่งให้แก้ไข และลงโทษอย่างหนัก โอกาสที่จะเกิดไฟไหม้ก็ยาก ยกเว้นมีการวางเพลิงเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น !
ทั้งหมดนี้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาวางมาตรการกำกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้มงวดกวดขันเจ้าของโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ขาดตกบกพร่อง

ถ้าทำได้เช่นนี้ ไฟไหม้โรงงานก็จะไม่เกิดขึ้นซ้ำซากอีกต่อไป!