กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเงื่อนไขการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน

15 พ.ค. 2567 | 17:10 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเงื่อนไขการเข้าสู่ "ฤดูฝน"ของไทย พร้อมเผยจุดสังเกตสภาพอากาศจากหน้าร้อนสู่หน้าฝน จะเป็นอย่างไร เช็คที่นี่

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ปี 2567 โดยจะมีการพิจารณาจากปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ 

  • ฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
  • ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้ผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กิโลเมตร เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์
  • ลมชั้นบน ตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ 
     

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ปี 2567

 

ขณะที่การเตรียมการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2567 (Pre-Southwest Monsoon) ก็หมายถึง ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนทิศทางของลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทั้งนี้สภาพอากาศช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้ 

 

  • ระบบลมจะมีทิศทางแปรปรวน อาจมีแนวสอบของลม 2 กระแส อากาศร้อน 
  • ฝนระบุเวลาได้ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลมที่พัดปกคลุม โดยมีรายละเอียดดังนี้
  1. ลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ฝนมักตกช่วงเช้าถึงสาย
  2. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนมักตกช่วงบ่ายถึงค่ำ

 

ทั้งนี้เมื่อปัจจัยต่างๆเข้าเกณฑ์ ขอให้ประชาชนติดตามการประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง 

 

การเตรียมการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2567 (Pre-Southwest Monsoon)
 

อนึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายสภาพอากาศระหว่างวันที่  15 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 


วันที่ 16 – 17 พ.ค. 67 

  • ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ 
  • สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

วันที่ 18 – 19 พ.ค. 67 

  • ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางจะพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง 
  • สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร 

วันที่ 20 - 21 พ.ค. 67 

  • ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 
  • สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
     

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศระหว่างวันที่  15 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567