วันวิสาขบูชา (Vesak Day) เป็น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเป็นวันหยุดราชการ
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญระดับสากล โดยประกาศให้วันวิสาขบูชา หรือ Vesak Day เป็นวันสำคัญของโลก เนื่องด้วยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลายด้วยการยกเลิกการแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งนับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ
สำหรับ ประวัติของวันวิสาขบูชา นั้น ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อนสมัยพุทธกาล ณ ดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป ได้มีเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในวันเดียวกันแต่ต่างปีกัน
เหตุการณ์แรก เป็นวันประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระนางสิริมหามายา พระมารดา ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วันก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"
เหตุการณ์ที่สอง เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ซึ่งปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้ เรียกว่า “พุทธคยา” ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจสี่ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร 4 ประการ คือ
เหตุการณ์ที่สาม ซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดท้าย เป็นวันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ทรงประชวรอย่างหนักแต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
ก่อนวาระสุดท้ายของคืนวันเพ็ญเดือนหก พระพุทธองค์ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา
ทั้งสามเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือนหก หรือเดือนวิสาขะทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่า วันเพ็ญเดือนหกนี้เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้ และนิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาเพื่อถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบทอดยาวมาจนถึงปัจจุบัน
การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก คือ ความหมายของวันวิสาขบูชา ซึ่งย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ซึ่งเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดียตรงกับวันเพ็ญเดือนหกตามปฏิทินจันทรคติของไทย
การบูชาวันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่า ได้รับแบบแผนมาจากลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกาพระองค์อื่น ๆ ได้ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด มีพระสงฆ์จากประเทศลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทย
เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา การถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา และเพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า ชาวพุทธจึงร่วมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่างขึ้นมา
ในวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า เตรียมจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด พร้อมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล 5 ศีล 8 และบำเพ็ญบุญกุศลอื่น ๆ ทำความดีและทำตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงการทำทานด้วยการปล่อยนกและปล่อยปลา เป็นต้น
ในช่วงเย็นก็เข้าร่วมพิธีเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำเพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามโบสถ์
นอกจากนี้ ยังอาจมีการประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัด และสถานที่ราชการ และการรวมตัวกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น การเก็บกวาดขยะตามบริเวณวัดหรือแหล่งชุมชน หรือเปิดโรงทานแจกอาหารแก่บุคคลทั่วไป เป็นต้น ถือเป็นการทำความดี ทำให้เกิดความสบายใจ สงบใจ และเป็นการทำบุญกุศลอีกรูปแบบหนึ่ง