วันนี้ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก สพฐ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “สัปดาห์แห่งการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” ตั้งแต่วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567
ทั้งนี้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิเผยว่า สพฐ.ได้จัดกิจกรรม “สัปดาห์แห่งการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก (31 พฤษภาคม) ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อสร้างความตระหนัก ให้ความรู้ในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ณ สวนวันครู อาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ
นายธีร์ กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา เป็นเรื่องที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนในวัยเรียน เนื่องจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี พบว่า เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 เท่า จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น ประกอบกับองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก
ซึ่งในปี 2567 ได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ คือ “บุหรี่ไฟฟ้า : หยุดโกหกได้แล้ว” หรือ Stop the lies โดยกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการป้องกัน ควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานศึกษา ทั้งเชิงนโยบายและการดำเนินการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่ และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ ในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยการให้ความรู้ ตระหนักถึงภาวะเสพติดและพิษร้ายแรงของผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้งจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบและผู้ที่เกี่ยวข้อง
สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว จึงได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เน้นย้ำสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า กรณีพบผู้ครอบครองหรือเสพ หรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา และขอความร่วมมือการแก้ไขปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้
.
“พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้ประกาศ “สัปดาห์แห่งการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” โดยขอให้สถานศึกษาในสังกัดจัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วันงดสูบบุหรี่โลก ตั้งแต่วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 โดยให้มีกิจกรรมรณรงค์เชิงสร้างสรรค์ เพิ่มองค์ความรู้ สร้างความตระหนักถึงภัยที่เกิดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น จัดนิทรรศการ บอร์ดความรู้ วาดภาพระบายสี สุนทรพจน์ เป็นต้น เพื่อปลูกฝัง สร้างความตระหนักให้นักเรียนรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาว เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ให้เด็กทุกคน “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว