วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนและน่ายินดี
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (2 ตุลาคม 2544 1 กุมภาพันธ์ 2548 5 กุมภาพันธ์ 2562 และ 1 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทยและภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย 3 สิ่ง ได้แก่ ช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ (คูน) และศาลาไทย และให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ รวมทั้งให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
สำหรับการไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย เนื่องจากการไหว้ของไทย ถือเป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน แม้ว่าการไหว้จะเป็นสิ่งที่ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับเข้ามาจากสาธารณรัฐอินเดียผ่านทางคติความเชื่อในศาสนาพราหณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ
แต่ได้มีการนำมาปรับและพัฒนาจนมีความหลากหลาย ความลุ่มลึก และมีความหมายในการแสดงออก จึงทำให้การไหว้ของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ การเสนอให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย จึงเป็นการสร้างเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เกิดการสืบทอดการแสดงความเคารพแบบไทยให้คงอยู่ตลอดไป
ประกอบกับคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เห็นชอบด้วยแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ เเละสำนักงานราชบัณฑิตยสภาพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการแล้ว
นายคารม กล่าวว่า การกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย เป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย แสดงถึงความดีงามและความรู้สึกของผู้ปฏิบัติ มีความหมายและความลุ่มลึกในการแสดงออกที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย การกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย
ทั้งนี้มีมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและธำรงรักษาสิ่งดีงามที่คนไทยปฏิบัติกันมานานจนได้รับการยอมรับในระดับสากลให้อยู่ตลอดไป