วันที่ 25 สิงหาคม 2567 จากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มในหลายพื้นที่ของจังหวัดภาคเหนือ ล่าสุดกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาปรับแผนรับมือน้ำเหนือ
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน(วันที่25 ก.ค.67 เวลา 06.00 น.)ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 944 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราที่เหมาะสม พร้อมปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 649 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 - 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำจากทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้
สำหรับการปรับการระบายน้ำในครั้งนี้จะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 40 - 80 เซนติเมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวยังคงอยู่ในตลิ่งและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป
นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ ขณะนี้แม้ปริมาณฝนจะเริ่มซาลงแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังมวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่าง ๆ โดย กฟผ. ได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 5,846.02 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43.4 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 2,046.02 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21.2 ของความจุอ่าง ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 7,615.98 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56.6
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 6,330.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 66.60 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 3,480.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52.70 ของความจุอ่าง ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 3,179.40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33.40
ทั้งนี้เขื่อนสิริกิติ์ได้ปรับแผนลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง และเป็นประโยชน์ต่อการกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้า