เจาะระบบเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning ของไทย

13 ก.ย. 2567 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 00:17 น.

เจาะลึกระบบเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning ของประเทศไทย เพื่อใช้รับมือภัยพิบัติ ล่าสุดพบติดตั้งทั้งหมด 63 จังหวัดทั่วประเทศ

ภาพมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมอย่างฉับพลันในอำเภอแม่สาย ไปจนถึงอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย บ้านเรือนประชาชนจำนวนมากจมอยู่ใต้น้ำ แม้ว่าล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมแม่สายขณะนี้จะลดลงเเล้ว เเต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทำไมการเตือนภัยยังไร้ประสิทธิภาพ 

"เรามีระบบแจ้งเตือนในระดับที่ดีอยู่แล้ว แต่บางทีภัยก็มาเร็วเกินคาด" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าว

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2513-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ภูมิอากาศ หรือทางน้ำทุกวัน จำนวนภัยพิบัติเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วง 50 ปี (2450-2562) ภัยพิบัติทั้งหมด 50% ที่เกิดขึ้นในช่วง 50 ปี มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และอันตรายทางน้ำ

"ระบบเตือนภัยล่วงหน้า" Early Warning

"ระบบเตือนภัยล่วงหน้า" เป็นกลไกที่ช่วยในการคาดการณ์ เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตรายก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง ไม่เพียงแต่ช่วยลดความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนและสังคม ด้วยการให้เวลาและข้อมูลที่จำเป็นแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึง

โดยทำให้ความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติสามารถลดลงได้ถึง 30% หากมีการออกคำเตือนล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมง นั่นหมายถึงในระดับโลกเราสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียมูลค่า 3,000-16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีได้ โดยผ่านระบบเตือนภัยล่วงหน้า เเต่ประมาณ 30 % ของประชากรโลก ยังไม่ได้รับเตือนภัยล่วงหน้า

ไทยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ในประเทศไทยกรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการจัดทำ ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 โดยจะแสดงผ่านเว็บไซต์ เเละ Mobile Application บนระบบ iOS และ Android  ปัจจุบันครอบคลุม 63 จังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งหมด 2,159 สถานี  5,954 หมู่บ้าน มี 14 จังหวัดที่ไม่พบสถานีเตือนภัยล่วงหน้า

  1. ชัยนาท
  2. นครปฐม
  3. นนทบุรี
  4. บึงกาฬ
  5. ปทุมธานี
  6. พระนครศรีอยุธยา
  7. พิจิตร
  8. ร้อยเอ็ด
  9. สมุทรปราการ
  10. สมุทรสงคราม
  11. สมุทรสาคร
  12. สิงห์บุรี
  13. อ่างทอง
  14. อำนาจเจริญ 

ขณะที่จังหวัดเชียงรายมีสถานีเตือนภัยล่วงหน้า 183 สถานี 623 หมู่บ้าน ในอำเภอเเม่สาย 7 หมู่บ้านใน 3 ตำบล อำเภอแม่ฟ้าหลวง 71 หมู่บ้าน  4 ตำบล อำเภอเมืองเชียงราย 84 หมู่บ้าน ใน 13 ตำบล

การปฏิบัติเมื่อมีการแจ้งเตือนภัย

เฝ้าระวัง

  • สัญญาณไฟ สีเขียว จะดังขึ้นทุก 20 นาที แต่ละครั้งดังนาน 10 วินาที

การปฏิบัติตน

  • ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์
  • คอยฟังประกาศจากหอกระจายข่าว

เตือนภัย

  • สัญญาณไฟ สีเหลือง จะดังขึ้นทุก 15 นาที แต่ละครั้งดังนาน 10 วินาที

การปฏิบัติตน

  • ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์
  • เก็บรวมรวมสิ่งของที่จำเป็น
  • รอฟังประกาศและสัญญาณครั้งต่อไป

ต้องอพยพ

  • สัญญาณไฟ สีแดง จะดังขึ้นทุก 3 นาที แต่ละครั้งดังนาน 10 วินาที

การปฏิบัติตน

  • ให้เคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย ที่ได้มีการแจ้งให้ทราบ

ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน "Cell Broadcast Service" 

นอกจากนี้ ประเทศไทย พยายามพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน "Cell Broadcast Service" ผ่านมือถือครั้งแรก 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และ รัสเซีย แต่จะเริ่มต้นปี 2568 

หลายประเทศทั่วโลกใช้ระบบเตือนภัย "Cell Broadcast Service" 

เริ่มจาก ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกๆที่ใช้ระบบ CBS เนื่องจากเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว เมื่อประชาชนได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัย

เกาหลีใต้ ที่มีการแจ้งเตือนภัยครอบคลุมการแจ้งประชาชนที่กำลังอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ตลอดจนการแจ้งคนหาย เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ช่วยกันสอดส่อง และประเทศสหรัฐอเมริกา ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ แคนาดา นิวซีแลนด์ เปรู ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

ที่มา