"สมรสเท่าเทียม" รองรับสิทธิคู่สมรสหลากหลายทางเพศ ประกาศใช้แล้ว

24 ก.ย. 2567 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 03:11 น.

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 รองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ สถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๗

โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสําคัญ ในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จํากัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย  

โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทําให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง 

                      \"สมรสเท่าเทียม\" รองรับสิทธิคู่สมรสหลากหลายทางเพศ ประกาศใช้แล้ว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกําหนดเรื่องครอบครัว หรือ มรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำหรับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

                        \"สมรสเท่าเทียม\" รองรับสิทธิคู่สมรสหลากหลายทางเพศ ประกาศใช้แล้ว

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๗”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๔๓ ภูมิลําเนาของคู่สมรส ได้แก่ถิ่นที่อยู่ที่คู่สมรสอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส เว้นแต่ คู่สมรสฝ่ายใดได้แสดงเจตนาให้ปรากฏว่ามีภูมิลําเนาแยกต่างหากจากกัน”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙๓/๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๙๓/๒๒ อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สมรส ถ้าจะครบกําหนดก่อนหรือภายใน หนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง อายุความนั้นยังไม่ครบกําหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่ การสมรสสิ้นสุดลง"

                          \"สมรสเท่าเทียม\" รองรับสิทธิคู่สมรสหลากหลายทางเพศ ประกาศใช้แล้ว

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๔๓๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๓๕ การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว” 

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๓๗ การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น ให้แก่ผู้รับหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น

สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายผู้หมั่นให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง ฝ่ายผู้รับหมั้น แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญ อันเกิดแก่ผู้รับหมั้นหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายผู้รับหมั้นต้องรับผิดชอบ ทําให้ผู้หมั้นไม่สมควรหรือ ไม่อาจสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น ฝ่ายผู้หมั้นเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึงมาตรา ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๓๙ เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายผู้รับหมั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายผู้หมั้นด้วย”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

คลิกอ่านเพิ่มเติมจากราชกิจจานุเบกษา