วันนี้ (3 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กทม. ครั้งที่ 10/2567 ถึงแนวทางจัดการรสบัสนักเรียน โดยระบุว่ารถบัสในสังกัด กทม. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รถของหน่วยงาน กทม. เช่น สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ที่มีรถบัสประมาณ 80 คัน ใช้สำหรับนำทีมนักกีฬาไปแข่งขันในจังหวัดต่าง ๆ โดยกำชับให้เข้มงวดตรวจสอบคุณภาพของรถและคนขับอย่างละเอียด
สำหรับกรณีรถทัศนศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ ที่ใช้บริการจ้างเหมารถจากภายนอกนั้น นายชัชชาติสั่งให้ทบทวน TOR (ขอบเขตงาน) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละโรงเรียนอาจกำหนด TOR ต่างกัน โดยให้พิจารณาข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างละเอียด
เช่น การใช้รถแก๊ส การตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัย การใช้รถสองชั้นหรือชั้นเดียว ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดเจน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในประเด็นนี้อย่างรอบคอบ
ในส่วนของการทัศนศึกษาที่ กทม. ได้รับงบจากรัฐบาล 300 บาทต่อหัว ส่วนใหญ่เป็นการทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ เช่น สยาม หรือไกลสุดที่ดรีมเวิลด์ โดยมีรถตำรวจนำทุกครั้งเนื่องจากมีผู้ร่วมเดินทางจำนวนมาก ได้สั่งการให้ทบทวนความเหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก เช่น เด็กอนุบาล ว่ามีความเสี่ยงในจุดใดบ้างและต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยอย่างไร
"โดยไม่ได้สั่งยกเลิก แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างประสบการณ์ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย"
สำหรับกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี กทม. มีค่ายของตนเองในพื้นที่ดอนเมืองและทุ่งครุ โดยส่วนใหญ่จัดในกรุงเทพฯ และสั่งให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดถ้าไม่จำเป็น เพื่อป้องกันความเสี่ยงและดูแลความปลอดภัยของเด็ก ๆ แทนผู้ปกครอง
นายชัชชาติเสริมว่า กทม. เน้นตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยเฉพาะรถในสังกัดตนเองให้ผ่านการตรวจทั้งจากกองโรงงานช่างกล กทม. และกรมการขนส่งทางบก โดยให้กองโรงงานช่างกลตรวจเข้มยิ่งกว่ามาตรฐานทั่วไป ส่วนรถจากภายนอกให้ดำเนินการตามกฎหมายที่บังคับให้ต้องมีการตรวจสภาพเป็นประจำ